นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดการจัดหาพัสดุก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ เพื่อให้ส่วนราชการสามารถก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า เพื่อให้ส่วนราชการเตรียมการจัดหาพัสดุและเบิกจ่ายเงินได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนราชการสามารถเริ่มกระบวนการจัดหาได้ตั้งแต่ทราบยอดเงินที่จะนำมาจัดหาพัสดุ โดยยอดเงินดังกล่าวคือจำนวนเงินงบประมาณที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2561 พิจารณาแล้วก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวาระที่ 2 หลังจากที่ส่วนราชการทราบยอดเงินแล้ว ให้ดำเนินการขั้นตอนการจัดหาได้เลย ตั้งแต่การเผยแพร่ประกาศจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้ขายหรือผู้รับจ้างไว้ก่อน โดยจะลงนามได้ก็ต่อเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2561 มีผลใช้บังคับ และต้องได้รับการจัดสรรงบแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ให้กำหนดด้วยว่าหากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ส่วนราชการสามารถยกเลิกการจัดหานั้นได้ สำหรับการบันทึกข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-GP สามารถบันทึกข้อมูลได้ทันที โดยยังไม่ต้องระบุรหัสงบประมาณและรหัสแหล่งเงิน แต่ส่วนราชการต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าวให้เสร็จก่อนที่จะลงนามในสัญญา
ทั้งนี้ หากส่วนราชการใดจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยได้เผยแพร่ประกาศจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ก่อนวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ และจ่ายเงินยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามระเบียบฯ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา แต่หากการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ยังไม่ได้เผยแพร่ประกาศจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง หรือมีการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น ส่วนราชการจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560
ข่าวเด่น