สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเซียตะวันออก (ERIA) ระบุถ่านหินจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานพร้อมบรรยายพิเศษในงานสัมมนา Create a Batter Social Acceptance for Electric Power Infrastructure Coal-fired Power Plant ว่า จากที่ได้รับฟังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่เข้าร่วมในงานสัมมนาจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าแผนการพัฒนาพลังงานของทุกๆ ประเทศไม่ได้มีความแตกต่างจากประเทศไทย ในแง่ของการให้ความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของการพัฒนาใน 3 มิติ หรือ 3 E ได้แก่ 1.มิติด้านความมั่นคงพลังงาน (Energy Security) 2.มิติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economy) และ 3.มิติด้านการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม (Environment)
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาที่จัดทำโดย สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7-8 ล้านล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี พ.ศ.2555 จะเป็น 10 ล้านล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี พ.ศ. 2583 เนื่องจากทั่วโลกยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจะพบว่า สัดส่วนของถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าจะลดลงจาก 40% เป็น 29% ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าโดยมีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของประเทศจีนและประเทศอินเดียยังคงผลิตผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินไม่ได้ต่างจากปัจจุบัน
นอกจากนี้รายงานจาก EIA ยังพบว่า โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม ที่ผลิตจริงในประเทศต่างๆ ทั่วโลกระหว่างปี พ.ศ.2551-2555 มีค่าความพึ่งได้ (Capacity Factor) เพียง 15-20% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ที่สูงถึง 60-80% ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงยังจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าที่สามารถป้อนกระแสไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงสม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมงอย่างถ่านหินและนิวเคลียร์ต่อไป สิ่งสำคัญ คือการให้เกิดความสมดุลย์และความหลากหลายของการเลือกใช้เชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มความมั่นคง สร้างเสถียรภาพและลดความเสี่ยง” ดร.ประเสริฐกล่าว
นายชิเกรุ คิมูระ ที่ปรึกษาพิเศษของผู้อำนวยการ กิจการด้านพลังงาน Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA ซึ่งเป็นสถาบันระหว่างประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและอาเซียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 กล่าวว่า แต่ละประเทศมีความจำเป็นทางด้านพลังงานที่แตกต่างกัน อาทิเช่น นิวซีแลนด์ อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากนัก เนื่องจากมีแหล่งพลังงานทดแทนชนิดที่พึ่งพาได้ (Firm RE) คือ พลังน้ำ และพลังความร้อนใต้พิภพ ซึ่งมีอยู่มากภายในประเทศ
“ไทยและอาเซียนประเทศอื่นๆ อาจจะไม่โชคดีเหมือนนิวซีแลนด์ที่มีแหล่งพลังงานทดแทนที่พึ่งพาได้มากนัก จึงยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน เพิ่มขึ้น” นายคิมูระกล่าว
ดร.เอรี่ พราโบโว ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการที่ 1 บริษัท พีที อินโดนีเซีย พาวเวอร์ กล่าวว่า อินโดนีเซียมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างมหาศาลและบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใช้เวลานานในการพัฒนา
นายเอ็ดการ์โด ครูซ ประธานกลุ่มผู้ใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินประเทศฟิลิปปินส์ (Philippine Coal Plant User’s Group) เปิดเผยว่า ฟิลิปินส์มีโครงการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจาก 7,300 เมกะวัตต์ในปัจจุบันเป็นกว่า 17,000 เมกะวัตต์ภายในอนาคต
นายวู เวียง ดุง รองผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานความร้อน Power Engineering Consulting Joint Stock Company 2 ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า อีก 10 ข้างหน้า โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะยังคงสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญมากขึ้นในเวียดนามต่อไป
ข่าวเด่น