การแข็งค่าขึ้นและความผันผวนของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา กระทบต่อการทำธุรกิจส่งออกไม่มากก็น้อย ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนไม่น้อยก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บอกภายหลังเป็นประธานประชุม ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ปลัดกระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม คลัง สมาคมธนาคารไทย และ กกร. ร่วมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs จึงมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันจูงใจให้ SMEs เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนหรือ เฮดจิ้ง และกำชับให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ Exim Bank ผลักดันและนำ SMEs ให้สามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสอท. สภาหอการค้าไทย ร่วมผลิตบุคลากรให้เป็นโค้ชชิ่ง ให้กับเอสเอ็มอีในการประกอบธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีเข้าสู่กระบวนการผลิตสินค้า
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีสมคิด ยังสั่งให้หน่วยงานต่างๆ หามาตรการสนับสนุนด้านการเงินให้กับเอสเอ็มอี ให้มีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้ โดยแนวทางที่สำคัญได้มอบให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เร่งค้ำประกันสินเชื่อให้ได้ตามวงเงินที่กำหนด 1 แสนล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ เพราะขณะนี้มีการค้ำประกันเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำมาก รวมถึงให้พิจารณาขยายวงเงินขอค้ำประกันโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 23.75% แต่จะขยายเป็นสัดส่วนเท่าใดนั้น ยังต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่มี 11 แห่งทั่วประเทศทำหน้าที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ด้วยการให้ความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยี การค้าผ่านระบบออนไลน์ การค้าผ่านแอพลิเคชั่น โดยขณะนี้ได้นำร่องที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและภาคเอกชนร่วมมือกันช่วยเหลือ และจะดำเนินการต่อไปในอีก 10 ศูนย์ภาคที่เหลือ พร้อมกันนี้ยังสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดเครื่องมืออำนวยความสะดวก หรือ FACILITY กลางให้กับเอสเอ็มอี ได้ใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจจริงในเขตเศรษฐกิจพิเศษพบว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ ในวันที่ 11 ก.ย.นี้ ทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) จะนำคณะนักธุรกิจ เอสเอ็มอีญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทย เพื่อพบปะผู้ประกอบการไทยและจัดสัมมนาขึ้นในประเทศไทย โดยทางเอสเอ็มอีญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นในไทยแสดงความจำนงเข้าร่วมงานแล้วมากกว่า 500 ราย
การเดินทางมาครั้งนี้เน้น 3 เรื่อง คือ การแสวงหาความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้ปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงเอสเอ็มอีญี่ปุ่นต้องการแสวงหาแนวทางความร่วมมือเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนใช้โอกาสนี้หาแนวทางที่เอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นจะร่วมก้าวไปด้วยกัน
นายนิธศ มนุญพร กรรมการผู้จัดการทั่วไปบสย. กล่าวว่า เตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อที่จะรับทราบเงื่อนไขต่างๆ ก่อนนำเสนอกระทรวงการคลังก่อนนำเสนอครม.ภายในเดือนนี้ โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในเร็วๆนี้เพื่อสนับสนุนมาตรการทางการเงินได้แก่ 1. ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก 2. จัดโควตาพอร์ตค้ำประกันให้แต่ละธนาคาร 3. เพิ่ม Max Claim จาก 23.75% เป็น 30% โดยจะต้องเร่งให้เสร็จภายในสิ้นปี 2560
ข่าวเด่น