เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เอ็มเทค สวทช. ผนึกเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา สร้างความเข้มแข็งอุตฯยางพาราในประเทศ


ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ซึ่งประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  จัดการประชุมความร่วมมือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียาง ระหว่างวันที่ 13 - 14 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมุ่งหวังให้เป็นเวทีการพบปะ แลกเปลี่ยนทัศนะ และระดมความคิด เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมยางพาราในประเทศ


ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราหรือยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตได้มากกว่า 4 ล้านตันต่อปี และมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนหลายภาคส่วนในประเทศ เช่น เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ผลิตยางดิบ อุตสาหกรรมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น เมื่อพูดถึง “ยาง” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย จึงได้รับความสนใจอย่างมากในทุกมุมมอง      
 
 
อีกทั้งเป็นนโยบายที่รัฐบาลกำลังสนับสนุน คือการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาแปรรูปยางดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ดังนั้นการใช้ยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม และการวิจัยด้านเทคโนโลยียางได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้จักและความร่วมมือระหว่างบุคลากรที่ทำวิจัยด้านเทคโนโลยียาง ซึ่งสังกัดในมหาวิทยาลัย หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ มาแลกเปลี่ยนระดมความคิดร่วมกันผ่านเวที “การประชุมความร่วมมือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียาง” โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา 4 หน่วยงาน คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกันจัดการประชุมขึ้น

สำหรับการประชุมดังกล่าว นอกจากที่จะได้มารับฟังว่ามีการวิจัยด้านยางในองค์กรต่างๆ เป็นอย่างไรแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ความพร้อมในด้านบุคลากรและเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อขับเคลื่อนความพร้อมเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนก่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมยางพาราในประเทศได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ทั้งภาคเกษตรกร นักธุรกิจ นิสิตนักศึกษา บุคลากรด้านการศึกษาวิจัย รวมถึงผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยางพารา หรือบุคคลทั่วไปจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียาง ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาของหลายองค์กร ที่จะช่วยสร้างผลกระทบที่ดีต่อการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม “ยางพารา” และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมของประเทศไทย

 
 
ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวเสริมว่า สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านยางพาราของศูนย์เอ็มเทค สวทช. มียุทธศาสตร์การวิจัยยางล้อ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมขนส่งและการบินนั้น เป็นสองในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งศูนย์เอ็มเทค สวทช. มีโครงการวิจัยกี่ยวกับแปรรูปยางพารา เช่น งานวิจัยยางล้อยึดเกาะถนนเปียกได้ดี ยางล้อความต้านทานการหมุนต่ำ ยางล้อเสียงดังต่ำ และยางล้อไม่ใช้ลม (LiteWheel) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเพิ่มผลผลิตในการส่งออก ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนบทบาทและแผนงานต่อไปในอนาคตของเอ็มเทค สวทช. ในฐานะหนึ่งในสี่ภาคีเครือข่ายนวัตกรรมยางพาราคือ จะสานต่อการดำเนินการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรม การบริหารจัดการ และการผลิตยางพารา จากกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงมีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและสากล จากโจทย์ที่ได้รับจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ค. 2560 เวลา : 15:32:51
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 4:38 pm