เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.ชี้ช่องนักลงทุนรับมือค่าเงินผันผวน "แนะฝากผ่านบัญชี FCD -ใช้จ่ายผ่านเงินสกุลท้องถิ่น - ทำสัญญา Forward


 

ธปท. แนะทางเลือกนักลงทุนรับมือค่าเงินผันผวน ชี้ 3 วิธี ผ่านบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ-ใช้จ่ายผ่านเงินสกุลท้องถิ่น-ทำสัญญาซื้อขายผ่านตลาด Forward

นายณัฐพงศ์ รุจิรวนิช ผู้วิเคราะห์ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2560 พบว่า โครงสร้างการชำระเงินของการส่งออก มีการใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) 36% ส่วนการใช้เงินบาทมีสัดส่วน 11% ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือ “การจองฟอร์เวิร์ด (Forward)” 
   

ทั้งนี้ ยังมีทางเลือกอื่นอีกจาก 2 แนวทางดังกล่าว คือ การรับจ่ายด้วยสกุลเงินบาทหรือสกุลท้องถิ่น โดยพบว่า การใช้เงินบาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือประมาณ 13% ของสกุลเงินที่ได้รับจากการส่งออก หรือ 8% ของสกุลเงินที่ต้องจ่ายสำหรับการนำเข้าสินค้า โดยธปท.ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อรองรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้นด้วย ทั้งการทำข้อตกลงกับธนาคารกลางในภูมิภาค เพื่อดูแลสภาพคล่อง และผ่อนคลายเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการใช้เงินบาทและสกุลท้องถิ่นได้สะดวกมากขึ้น
    

สำหรับที่ผ่านมา ธปท.ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดบัญชี FCD กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเพื่อบริหารเงินตราต่างประเทศ เช่น เตรียมไว้ชำระภาระค่าใช้จ่ายต่างๆในอนาคต ทั้งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า จ่ายค่าบริการ หรือจ่ายคืนหนี้ที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศให้มีความสะดวกมากขึ้น
    

สำหรับบัญชี FCD ปัจจุบันมี 3 ประเภท ได้แก่ 1.บัญชีที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ ซึ่ง FCD ประเภทนี้เจาของบัญชีสามารถฝากเงินที่เป็นรายรับจากต่างประเทศได้ไม่จำกัด จำนวน ประโยชน์ของการใช้บัญชีนี้คือ ผู้ส่งออกที่มีภาระต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศในอนาคต ไม่จำเป็นต้องขายเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์ เพื่อแลกเป็นบาทก่อนแล้วค่อยมาซื้อดอลลาร์กลับออกไปจ่ายอีกรอบ เพียงแต่ฝากเงินดอลลาร์ที่ได้มาไว้ในบัญชี FCD นี้แล้วค่อยถอนออกไปเมื่อต้องใช้เท่ากับช่วยให้ไม่ต้องเสียส่วนต่างหรือ spread จากธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศหลายรอบ
  

2.บัญชีที่มี แหล่งเงินได้ในประเทศแบบมีภาระ เป็นบัญชีที่อนุญาตให้เจ้าของบัญชีสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปฝาก ได้ตามจำนวนภาระผูกพันในอนาคต ซึ่งธนาคารอาจขอเรียกดูหลักฐานว่ามีภาระที่ต้องจ่ายในอนาคตเป็นเท่าใด ซึ่งยอดสูงสุดที่จะซื้อฝากได้ก็จะขึ้นอยู่กับภาระที่ต้องใช้เงินตราต่าง ประเทศนั่นเอง และ3.บัญชีที่มีแหล่งเงินได้ในประเทศแบบไม่มีภาระ ซึ่งเป็นบัญชีFCD ที่มีความคล่องตัวสูงเจ้าของบัญชีสามารถซื้อฝากโดยไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐาน ของภาระผูกพันใดๆ แต่บัญชีประเภทนี้จะจำกัดยอดคงค้างไว้ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ (นับรวมทุก ธนาคารพาณิชย์) เช่น หากอยากจะเตรียมซื้อเงินเก็บไว้เผื่อส่งให้บุตรหลานไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ก็สามารถซื้อฝากเก็บไว้ได้ก่อนเลย โดยไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือตอบรับจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้บัญชี FCD อาจมีต้นทุนค่าธรรมเนียมการฝากหรือถอน (Commission in Lieu) อยู่บ้าง รวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่นๆ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
   

ด้าน ส่วนการใช้สกุลเงินบาทหรือเงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ เป็นทางเลือกที่จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก ไม่ว่าจะเป็น ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร และเยน ได้ เพราะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินภูมิภาคส่วนใหญ่มักจะไปในทิศทาง เดียวกัน ดังนั้น ความผันผวนโดยรวมจึงต่ำกว่า ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการที่ทำการค้ากับตลาดเอเชีย เช่น การค้าระหว่างไทย-จีน หรือการค้าภายในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจจะขอกำหนดราคาและรับชำระเป็นเงินบาทได้เลย ซึ่งก็ช่วยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี การจะขอให้คู่ค้าชำระหรือรับชำระเป็นบาทได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของคู่ค้า

 

 


LastUpdate 13/07/2560 18:34:36 โดย : Admin
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 5:01 pm