เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออก มิ.ย.60 ขยายตัว 11.7%


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน มิ.ย.60 การส่งออก มีมูลค่า 20,282 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 11.7% จากตลาดคาดโต 7.9-8.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 18,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.7% ส่งผลให้ดุลการค้า มิ.ย. เกินดุล 1,917 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

          
โดยการส่งออกขยายตัวดีขึ้นในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดจีน ญี่ปุ่น อาเซียน5 และ CLMV อีกทั้งขยายตัวในระดับสูงในทุกกลุ่มสินค้า โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ทั้งในด้านราคาและปริมาณ อาทิ ยางพารา น้ำตาลทราย ผักผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเฉพาะ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก

การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น (โดยตลาดที่ขยายตัวมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 90.0% ของตลาดทั้งหมด) ด้านการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวถึง 13.1% ซึ่งการส่งออกไป ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ขยายตัว 26.5% 8.2% และ 5.9% ตามลำดับ 

สำหรับตลาดศักยภาพสูงขยายตัว 20.5% โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องของตลาดจีนที่ 29.9% และตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน ที่ 24.6% นอกจากนี้ การส่งออกไปยังเอเชียใต้ CLMV เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ขยายตัว 11.6% 13.8% 29.7% 23.7% และ 9.6% ตามลำดับ ด้านตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัว 1.3% โดยการส่งออกตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศ CIS และแอฟริกา ขยายตัว 9.8% 75.1% และ 7.2% อย่างไรก็ตามการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียและลาตินอเมริกา หดตัว 9.6% และ 2.3% ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 60 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 113,547 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7.8% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 106,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 15.0% ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 6,971 ล้านเหรียญสรัฐฯ

ส่วนแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 60 มีทิศทางขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้า และความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการค้าในระยะต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตาม พร้อมทั้งเตรียมมาตรการรองรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้การส่งออกสินค้าของไทยสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ค. 2560 เวลา : 15:59:09
08-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 8, 2024, 4:13 am