คปภ. เพิ่มเกณฑ์การเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถ ปรับมาตรฐานราคากลางค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จะต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อให้เป็นไปตามสภาพการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามกลไกของตลาดที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแต่มาตรฐานกลางของรายการและจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้กับผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ยังไม่มีการปรับปรุง สำนักงาน คปภ. จึงเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในการประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรฐานกลางและจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลเพื่อผู้ประสบภัยจากรถ โดยมี เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงราคาค่ารักษาพยาบาลโดยอ้างอิงกับราคามาตรฐานค่าบริการของกระทรวงสาธารณสุขและราคามาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แต่เนื่องจากราคาของทั้งสองหน่วยงานอยู่ระหว่างการศึกษาปรับปรุงและทบทวนให้มีความเหมาะสมเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นเพื่อเป็นการให้ประโยชน์กับผู้บริโภคโดยเร็ว จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงบัญชีราคาในบางส่วนก่อนโดยพิจารณาในส่วนรายการที่เห็นว่ามีราคาต่ำกว่ามาตรฐานของหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง เป็นต้น และต่อมาหากอัตรามาตรฐานค่าบริการของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับใหม่มีการประกาศใช้จึงจะได้นำมาพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนมาตรฐานราคากลางต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า คณะอนุกรรมการฯ ที่ตนเป็นประธาน จึงได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขบัญชีอัตราค่ารักษาพยาบาล เป็นผลให้มีการออกประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เรื่อง มาตรฐานกลางของรายการและจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัย หรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 โดย ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้ลงนามแล้ว และประกาศฯดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2560
ทั้งนี้ มาตรฐานกลางของรายการและจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลตามประกาศฯ ที่มีการปรับปรุงใหม่ครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้การกำหนดรายการการรักษาพยาบาล และอัตราค่าบริการมีความสมบูรณ์มากขึ้น รวมทั้งมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามกลไกของตลาดที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงได้เทียบเคียงรายการของประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับเดิม ร่วมกับราคามาตรฐานค่าบริการของกระทรวงสาธารณสุข และกรมบัญชีกลางด้วย ซึ่งทำให้มีการปรับราคารายการการรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพิ่มขึ้น จำนวนทั้งสิ้น 29 รายการ โดยไม่มีการปรับลดราคาลงเลย ยกตัวอย่างเช่น ค่าตรวจวินิจฉัยพิเศษทางสมองมีการปรับเพิ่มราคาจาก 4,000 บาท เป็น 5,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ค่าบริการพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในทั่วไปจาก 360 บาท เป็น 500 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 หรือแม้กระทั่งค่ารถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งกำหนดอัตราไว้สำหรับในเขตจังหวัด เดิมให้เบิกได้ 500 บาทต่อครั้ง นอกเขตจังหวัดเบิกเพิ่มได้กิโลเมตรละ 90 สตางค์ ปรับเพิ่มเป็น ระยะทาง 10 กม. แรก สามารถเบิกได้ 1,100 บาท กรณีเกินกว่า 10 กิโลเมตร คิดเพิ่มได้อีกกิโลเมตรละ 10 บาท เป็นต้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ศึกษาแนวทางการเบิกจ่ายค่าบริการเกี่ยวกับการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถนอกสถานพยาบาล รวมถึงค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉินด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถนั้น ผู้ประสบภัยควรต้องได้รับการดูแลและได้รับการปฐมพยาบาลเริ่มตั้งแต่สถานที่เกิดเหตุก่อนส่งถึงมือแพทย์ที่ให้การรักษา ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้การดูแลผู้ประสบภัยจากรถมีคุณภาพที่ดีขึ้นในอนาคต
ข่าวเด่น