หลังจาก"กรุงเทพมหานคร" ออกมาจัดระเบียบทางเท้า เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็ส่งผลให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่เคยขายสินค้าบนทางเท้า ไม่ว่าจะเป็นเป็นร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า และร้านขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ต้องหายไปจากสองข้างทาง หรือไม่ก็เหลือพื้นที่ขายลดลง ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าริมถนนที่จะทำอย่างไรให้รายได้ที่เคยได้รับไม่หายไปจากกระเป๋า
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่เคยขายสินค้า 2 ข้างทาง โดยเฉพาะร้านอาหารข้างทางหรือ สตรีทฟู้ดต่างเร่งหาทางออกว่าทำอย่างไรจะหารายได้มาชดเชยในส่วนที่หายไป และทำอย่างไรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในทางออกที่มีความเป็นไปได้ คือ การขยายช่องทางขายผ่านโลกโซเชียลมีเดีย
น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การจัดระเบียบบนทางเท้าถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะนำมาซึ่งความสะอาด เพราะหากอาหารไม่สะอาดก็จะเสียชื่อเสียง แต่ถ้าสตรีทฟู้ดของเมืองไทยหายไป เชื่อว่าเสน่ห์ของประเทศไทยก็จะหายไปด้วย เนื่องจากไม่มีประเทศใดที่มีสตรีทฟู้ดที่หลากหลายและรสชาติอาหารดีเหมือนกับประเทศไทย
ทั้งนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็จะหายไปด้วย เพราะการเดินทางมาประเทศไทยของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น นอกจากจะมาท่องเที่ยวเพื่อชมธรรมชาติและสถานที่ที่สวยงามของประเทศไทยแล้ว การรับประทานอาหารในสตรีทฟู้ดก็ถือเป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นที่ต่างชาติให้ความสนใจ
ความนิยมที่แพร่หลายในการรับประทานอาหารตรีทฟู้ดของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ปัจจุบันธุรกิจอาหารกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เห็นได้จากมูลค่าของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมประมาณในปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 375,000-385,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มร้านอาหารที่มีสาขา มูลค่าตลาดประมาณ 108,000-110,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28.5% โดยมีสาขาอยู่ประมาณ 2,663 สาขา และร้านอาหารทั่วไป มูลค่าตลาดประมาณ 267,000-275,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 71.5%
ดังนั้น ธุรกิจสตรีทฟู้ด จึงไม่ควรหายไป รัฐบาลควรมีการจัดระเบียบสตรีทฟู้ด ด้วยการจัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการมารวมตัวกับขายอาหารในแต่ละพื้นที่มาจำหน่ายอาหาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารเองก็ควรปรับตัวด้วยการหาช่องทางขายใหม่ๆ มาต่อยอดรายได้ เช่น การผ่านออนไลน์ ควบคู่ไปกับการรักษาความสะอาดและรสชาติอาหาร เพื่อมัดใจลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ
นายธีรศานต์ สหัสสพาสน์ เจ้าของร้าน JM Cuisine กล่าวว่า การจัดระเบียบที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนาและจัดการธุรกิจร้านอาหารริมทางให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว ซึ่งการขายออนไลน์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางออกให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารริมทางที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
นายภานุ องควัต ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท เกรฮาวด์ จำกัด กล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดการจัดระเบียบขึ้นอย่างไร แต่อัตลักษณ์ ตัวตน และเสน่ห์ของความเป็นร้านอาหารริมทางแบบไทยๆ ก็ควรจะต้องคงอยู่ เพราะการขายอาหารริมทางถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศไทย แต่เมื่อถูกบีบในเรื่องของพื้นที่ ผู้ประกอบการก็ควรหันมาให้ความสนใจการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และขายสินค้าในรูปแบบเดลิเวอร์รี่ เพื่อขยายฐานลูกค้าและรายได้ให้เพิ่มขึ้น
แต่ก่อนที่จะไปเริ่มการจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารควรมีข้อมูลของลูกค้า และหาพันธมิตรเข้ามาช่วยเสริมในการขาย เช่น การใช้บริการไลน์แมนเพื่อส่งอาหาร หรือปรับแพ็คเกจจิ้งในการจัดส่งและเก็บอาหาร เพื่อเก็บความร้อนและรักษาความอร่อยของอาหาร
นอกจากนี้ ควรใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย เป็นอีกช่องทางในการทำการตลาด เช่น เปิดช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อสื่อสารกับลูกค้าให้มากขึ้นโดยแต่ละช่องทางควรตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น Instagram Facebook หรือหากเป็นที่นิยมในกลุ่มชาวจีนก็ควรเปิดช่องทาง We Chat ไว้รองรับ เป็นต้น
ด้าน นายสหัสวรรษ ชอบชิงชัย ฟู้ดบล็อคเกอร์ ภายใต้ฉายาหม่อมถนัดแดก แนะนำเสริมว่า หากจะให้ร้านเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ควรมีคนรีวิวร้านลงในสื่อออนไลน์ใหญ่ๆ เช่น TripAdvisor ก็เป็นอีกช่องทางให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักร้าน ที่สำคัญคือทางร้านเองก็ต้องปรับเปลี่ยนความคิดเปิดตัวทำการประชาสัมพันธ์ในสื่อใหม่ๆ ให้มากขึ้นเช่นกัน
ขณะที่ กฤตินี พงษ์ธนเลิศ กูรูด้านการตลาดญี่ปุ่น กล่าวเสริมว่า หากมองในภาพใหญ่ และในอนาคตระยะยาว การจัดระเบียบร้านอาหารริมทาง อาจนำไปสู่ศูนย์รวมสตรีทฟู้ดแท้ๆ ที่มีแหล่งรวมตัวอยู่ในทุกมุมเมือง หรือแม้กระทั่งทุกจังหวัดดังเช่นที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ หรือในญี่ปุ่น ซึ่งจะสามารถควบคุมด้านคุณภาพและความสะอาดได้ง่าย และหากเป็นเช่นนั้นได้จริง นักท่องเที่ยวและผู้ที่รักการกินก็ย่อมยินดีที่จะเดินทางไปชิมอาหารถึงที่นั้นๆ ด้วยตัวเอง
ดังนั้นหากจะพัฒนาสตรีทฟู้ดของไทยให้เป็นเดสติเนชั่นของประเทศอย่างแท้จริง ผู้ประกอบการกับภาครัฐควรร่วมมือกัน เพื่อให้ฟู้ดสตรีทของไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียนำทางในการทำการตลาด เพื่อเปิดตัวเองสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่การส่งออกต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ฟู้ดสตรีทของไทยไปถึงจุดนั้นได้ เจ้าของธุรกิจจะต้องมองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความท้าทายใหม่ และไม่ได้มองเพียงเป็นการทำธุรกิจขายอาหาร หากแต่เป็นการสืบทอดเสน่ห์ไทยๆ นี้ ให้มีต่อไป ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใดก็ตาม
ข่าวเด่น