บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด ประชุมนัดแรกวันนี้ (20 กรกฎาคม 2560) เตรียมเดินหน้าเข้าลงทุนซื้อยางทั้งในตลาดซื้อขายยางจริงจากตลาดกลางของ กยท.ทั้ง 6 แห่ง รวมถึงตลาดซื้อขายล่วงหน้าผ่านทางตลาด TFEX ในต้นสัปดาห์หน้า ขับเคลื่อนสร้างเสถียรภาพราคายาง
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเสถียรภาพราคายางว่า ขณะนี้ องค์กรทั้ง 6 แห่ง เดินหน้าร่วมกันจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด ซึ่งจะเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยมี กยท. และบริษัทผู้ส่งออกเอกชนรายใหญ่ของประเทศทั้ง 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ล่าสุด ได้มีการประชุมอย่างเป็นทางการ ภายใต้ บริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการและการบริหารจัดการกองทุน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันให้กองทุนฯ เข้าลงทุนซื้อยางทั้งในตลาดซื้อขายยางจริงจากตลาดกลางทั้ง 6 แห่งของ กยท. ที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอยู่แล้ว ได้แก่ หนองคาย บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และยะลา และจะมีการซื้อขายผ่านทางตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า TFEX โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อผลักดัน และรักษาให้ราคายางอยู่ในระดับที่เหมาะสม
“สำหรับกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ณ วันนี้ ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง คือ เริ่มมีการจัดตั้งกองทุน มีการประชุมหารือถึงข้อกำหนดการดำเนินงาน รวมไปถึงการกำหนดวันที่จะเข้าซื้อยาง ซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์หน้า โดยเป็นการซื้อขายยางพาราจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผ่านตลาดกลางยางพาราของ กยท. และขณะเดียวกันจะมีการซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า TFEX เพื่อสะท้อนราคาในตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันเป้าหมายคือเพื่อให้เกิดเสถียรภาพราคายาง และทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางดีขึ้น” ดร.ธีธัช กล่าวย้ำ
ด้านนายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินงานครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ โดยเฉพาะมีการยางแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นกลางเพื่อการส่งออกมีความเข้มแข็งขึ้นมา และส่งผลไปยังผู้ผลิตต้นน้ำ ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า กระบวนการทำงานของกองทุนเป็นอย่างไร ผลที่จะเกิดขึ้นแก่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเกษตรกรจะเป็นอย่างไร โดยวันนี้ได้มีการร่วมมือและผนึกกำลังกันแล้ว คาดว่าน่าจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของราคาโดยเฉพาะในตลาดล่วงหน้า เช่น ญี่ปุ่น จีน หรือสิงคโปร์ ซึ่งคิดว่า ต่อไปนี้ประเทศไทยน่าจะเทียบเท่ากับประเทศเหล่านี้ได้ เพราะความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการสร้างศักยภาพของประเทศเพื่อให้ต่างประเทศเข้าใจว่ากระบวนการห่วงโซอุปทาน (Supply chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Valued Chain) ของไทยก็มีบทบาทหนึ่งในนั้นด้วย
“อย่างน้อยเสียงเราก็ดัง ซึ่งทำให้รู้ว่า ไทยก็มีตัวตนอยู่ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีพืชผลทางการเกษตรออกจากสวนที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์หรืออุตสาหกรรมยางพาราอื่นๆ ต่อไป แต่หากมีการเอาเปรียบทางราคา ก็จะส่งผลดีต่อวัตถุดิบได้ในอนาคต” นายไชยยศ กล่าว
ด้านนายกรกฎ กิตติพล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ฝ่ายขายต่างประเทศ บริษัท ไทยฮั๊วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อดีของการรวมกลุ่มกันครั้งนี้ สิ่งแรกคือ ความร่วมมือกันระหว่างเอกชนที่ส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย และรัฐบาลที่ร่วมมือกันในการช่วยเหลือทำให้ยางพารามีราคาที่สูงขึ้น ถือว่าเป็นความสามัคคีที่เป็นรูปธรรมแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางได้เกิดความสบายใจ และเชื่อมั่นได้ว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเรื่องราคายางให้สูงขึ้น พร้อมกับมีความตั้งใจแน่วแน่ในการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง รวมไปถึงการร่วมนำเงินลงในกองทุนฯ โดยไม่หวังในเรื่องของผลกำไร คิดเพียงแต่ต้องการให้ราคายางสูงขึ้นเท่านั้น ในขณะเดียวกัน จะเป็นการสื่อสารให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยสามารถเป็นเบอร์หนึ่งเรื่องของยางพาราได้ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ทั้งโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือผู้ประกอบกิจการ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เราในฐานะผู้ถือหุ้นในกองทุนฯ จะเร่งทำงานให้เกิดผลสำเร็จให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยเกษตรกร และช่วยราคายางพาราให้ดีและสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพราคายางให้คงที่ ไม่กลับไปสู่จุดที่ราคาตกต่ำอีกครั้ง
ข่าวเด่น