นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คาดเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก โดยอัตราการเจริญเติบโตทั้งปี น่าจะอยู่ในระดับ 3.58 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยเชื่อว่าเป็นผลมาจากการลงทุนภาครัฐที่เป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนจะกระเตื้องขึ้น ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 3.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการส่งออกที่เติบโตขึ้นประมาณ 5.2 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม หากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลวางแผนไว้ อาจจะส่งผลในอัตราการเจริญเติบโตลดลงไปที่ระดับ 3.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันหากอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะเงินบาทแข็งค่าไปอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 ยังคงเป็นภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและค่าเงินบาท โดยที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงกว่าในปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันการคาดการณ์ล่าสุดปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปี 2560 คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก อัตราการเจริญเติบโตทั้งปี น่าจะอยู่ในระดับ 3.58 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยเชื่อว่าการลงทุนภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวน่าจะเป็นกลจักรสำคัญอีกตัวหนึ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับสูงในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะมีประมาณ 34.5 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ คาดการณ์ไว้ที่ 0.7 เปอร์เซ็นต์ หากค่าเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวเสริมว่า การลงทุนภาคเอกชนจะกระเตื้องขึ้นและเติบโตทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 3.2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการเพิ่มการลงทุนในด้านเครื่องจักร ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการส่งออก ส่วนต้นทุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนยังค่อนข้างต่ำ ในขณะที่การส่งออกจะเติบโตประมาณ 5.2 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นมากกว่าในปีที่ผ่านมาเนื่องจากการฟื้นตัวขึ้นของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป และการเติบโตต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 3.7 – 3.8 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ
หากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลวางแผนไว้ ซึ่งตัวเลขในไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมาการเจริญเติบโตของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐค่อนข้างต่ำ อาจจะส่งผลในอัตราการเจริญเติบโตลดลงไปที่ระดับ 3.4 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยอีกประการที่ต้องเฝ้าระวังคือทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น หากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวต่อ
หากพิจารณาการผลิตรายสาขาเศรษฐกิจจะพบว่า สาขาหัตถอุตสาหกรรมยังคงมีปัญหาอัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ มีอัตราการเติบโตเพียงประมาณร้อยละ 1 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้ผลิตยังอยู่ในระดับปานกลางและดัชนีด้านการบริโภคของภาคครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนภาคก่อสร้างก็มีการชะลอตัวในไตรมาสที่ 1 และหากพิจารณาทั้งปีอัตราการเจริญเติบโตจะอยู่ประมาณ 4.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำเมื่อเทียบกับการเจริญเติบโตในปีที่ผ่าน นอกจากนี้ภาคโรงแรมกับภัตตาคารก็มีสัญญาณที่เติบโตช้ากว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตในอัตราที่มิได้สูงเช่นปีที่ผ่านๆมา ส่วนภาคเกษตรในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงหลังจากประสบปัญหาในปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดงานเสวนา “จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง กระเตื้องหรือซึมยาว” โดยมี ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย ร่วมเสวนา กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้อง 101 ชั้น 1 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-613-2404 หรือ www.econ.tu.ac.th
ข่าวเด่น