หลักเกณฑ์สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ปรับปรุงใหม่จะกระทบอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจภาวะค่าครองชีพครัวเรือน พบว่า เกณฑ์ใหม่นี้มีความเข้มงวดขึ้น จากเดิมที่เคยปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือนต่อสถาบันการเงิน เปลี่ยนเป็นลักษณะขั้นบันไดตั้งแต่ 1.5 – 5 เท่าต่อสถาบันการเงิน ตามฐานรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ ขณะที่ในกรณีสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น จะเพิ่มเติมข้อกำหนดแก่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ในขั้นบันไดแรก (ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน) โดยจะได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลไม่เกิน 3 ราย หรือคิดเป็นเพดานวงเงินจากทุกผู้ประกอบการรวมกันไม่เกิน 4.5 เท่าของรายได้ ยกเว้น กรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ผู้ประกอบการสามารถขยายวงเงินชั่วคราวได้ตามความเหมาะสม
สำหรับลูกค้าที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ไม่มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเหนือจากการกำหนดวงเงิน และเกณฑ์ใหม่จะบังคับใช้กับลูกค้าใหม่เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตที่จะถูกลดเหลือ 18% ต่อปี จาก 20% ต่อปีด้วย
จากการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มเจนวายให้น้ำหนักกับการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน หรือการจับจ่ายใช้สอยทั่วไป ในระดับสูงกว่ากลุ่มเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ โดยจากผลสำรวจฯ น้ำหนักของการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคของกลุ่มเจนวายมีสัดส่วนประมาณ 34.4% ของภาระหนี้ก้อนหลัก ซึ่งสูงกว่ากลุ่มเจนเอ็กและเบบี้บูมเมอร์ ที่มีน้ำหนักของภาระหนี้ในส่วนนี้เพียง 29.8% ซึ่งส่วนหนึ่งแสดงถึงข้อจำกัดด้านรายได้หรือพฤติกรรมการบริโภคที่ทำให้ต้องพึ่งสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่ากลุ่มเจนอื่นๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt-Service Ratio: DSR) ของกลุ่มดังกล่าว แม้จะอยู่ต่ำกว่าเจนเอ็กซ์และเบบีบูมเมอร์เล็กน้อย แต่ก็ถือว่าน่ากังวล เนื่องจากสะท้อนภาพการก่อหนี้ตั้งแต่จังหวะการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจทำให้เสถียรภาพทางการเงินเผชิญกับความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องเผชิญกับเหตุการณ์อันไม่คาดคิดในอนาคต
ซึ่งกฎเกณฑ์ใหม่จะมีผลกระทบในระยะสั้นต่อผู้ประกอบการ หลังจากที่มีการบังคับใช้มาตรการใหม่อย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2560 โดยคาดว่าคงจะสะท้อนผ่านรายได้ดอกเบี้ยรับจากธุรกิจบัตรเครดิตในไตรมาส 4/2560 ที่คงจะลดลง จากการปรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง 2% โดยจะมีผลให้รายได้ดอกเบี้ยของผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ลดลงประมาณ 750-900 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งสำหรับเฉพาะส่วนของธนาคารพาณิชย์ จะคิดเป็นประมาณ 0.3% ของรายได้ดอกเบี้ยรวม ซึ่งผลกระทบดังกล่าว คงลดทอนลงได้บ้าง เพราะเป็นช่วงเทศกาลใช้จ่ายปลายปี ที่มักทำให้มีแรงหนุนเชิงปริมาณเข้ามาเพิ่มขึ้น
ส่วนผลกระทบในทางปฏิบัติอื่นๆ นั้น คาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ น่าจะสามารถบริหารจัดการผลกระทบได้ เนื่องจากเกณฑ์จะบังคับใช้เฉพาะกับลูกค้าใหม่เท่านั้นและให้ระยะเวลาในการปรับตัว อีกทั้งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มีการอนุมัติเพดานสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในกรอบที่ไม่หนีไปจากเกณฑ์ใหม่ของ ธปท.นักอยู่แล้ว ท่ามกลางนโยบายเครดิตที่คงความระมัดระวังต่อเนื่อง จากภาพความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่
ดังนั้น แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะยังคงมุมมองต่อแนวโน้มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับทั้งปี 2560 ที่ระมัดระวัง แต่ก็สะท้อนภาพนโยบายเครดิตที่รัดกุมจากผู้ประกอบการและการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้นของผู้บริโภค มากกว่าที่จะเป็นผลจากมาตรการในครั้งนี้ โดยยังมองประมาณการอัตราการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลของระบบ (ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์) ไว้ที่ 4.0% (กรอบคาดการณ์ที่ 3.0-5.0%) ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของปี 2559 ที่ 4.6% ขณะที่ ให้ประมาณการการขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตของระบบไว้ที่ 6.0% (กรอบคาดการณ์ 5.0-7.0%) เทียบกับตัวเลขทบทวนใหม่ของปี 2559 ที่ 8.0%
ข่าวเด่น