ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC วิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมกลับมาเป็นบวกที่ 0.17%YOY จาก -0.05%YOY ในเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ 0.48%YOY จาก 0.45%YOY ว่า เงินเฟ้อทั่วไปที่กลับมาเป็นบวกในเดือนกรกฎาคม มีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารสดที่หดตัวน้อยลง เนื่องจากผลกระทบของฐานสูงจากภัยแล้งในปีก่อนคลี่คลายลง โดยราคาผักและผลไม้สดหดตัวที่ -4.6%YOY จาก -6.4%YOY ประกอบกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวสูงขึ้นที่ 8.0%YOY ในเดือนกรกฎาคมจาก -3.6%YOY ในเดือนก่อน ทำให้ดัชนีราคาหมวดพลังงานขยายตัวที่ 2.5%YOY
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างทรงตัว โดยราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก เช่น ค่าเช่าที่พักอาศัย (0.4%YOY) ค่าโดยสารสาธารณะ (0.2%YOY) การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (0.4%YOY) ขณะที่ยังมีบางหมวดที่ราคาลดลง เช่น เครื่องนุ่งห่ม (-0.1%YOY) สะท้อนว่าการบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า
ซึ่งอีไอซีมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.0%YOY โดยราคาอาหารสดจะกลับมาขยายตัว ประกอบกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเฉลี่ยอยู่ที่ 54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปที่ 35 - 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2017 ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป
และเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีแนวโน้มทรงตัวตลอดทั้งปี 2017 อยู่ที่ราว 0.6%YOY จากในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 0.55%YOY โดยผู้ประกอบจะยังไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นมากนัก เนื่องจากการบริโภคในประเทศยังไม่แข็งแกร่ง เพราะถูกกดดันจากภาวะการจ้างงานที่ซบเซาและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้น
ข่าวเด่น