กระทรวงวิทย์ฯ แถลงข่าวความพร้อมการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560” ก้าวสู่ปีที่ 12 อย่างยิ่งใหญ่ระดับเอเชียในเดือนสิงหาคมนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการแถลงข่าวความพร้อมการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560” (National Science and Technology Fair Thailand2017) ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการแห่งปี รวมสุดยอดนิทรรศการกิจกรรม งานวิจัย และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดแสดงบนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตรณ ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 17-27สิงหาคม 2560คาดมีผู้เข้าชมงานที่เป็นทั้งเด็ก เยาวชน ครอบครัวและประชาชนทั่วไปทั้งคนไทยและชาวต่างชาติกว่า 1.2 ล้านคน
ดร.อรรชกาสีบุญเรืองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” อีกทั้ง ในปีนี้ยังมีแนวคิดเพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) และเพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติให้ปี 2560เป็น “ปีสากลแห่งการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “2017 International Year of Sustainable Tourism for Development” ซึ่งเป็นหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายของ SDGs อีกด้วย มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ จึงถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศและภูมิภาคเอเชียในการแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมด้วยศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทยและต่างประเทศรูปแบบของกิจกรรมในงานคล้ายเทศกาลวิทยาศาสตร์ (Science Festival) ในหลายประเทศ คือประกอบด้วย การจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบทันสมัย มีความเป็นสากล เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) โดยเน้นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย New S-curve มุ่งสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) มาใช้ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น-เรียน-รู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ในประเด็นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และส่งเสริมการสร้างกิจกรรมภายในครอบครัว ภายใต้กรอบแนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม”โดยในปีนี้เป็นการผนึกกำลังร่วมกันของ 10 กระทรวง มากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศอีก 7ประเทศ 16 หน่วยงานเข้าร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าและเทคโนโลยี ได้แก่ ญี่ปุ่น (9 หน่วยงาน) สหรัฐอเมริกา (2 หน่วยงาน) สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ เพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนที่จะต้องเติบโตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในวันข้างหน้า รวมถึงการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
รศ.นพ.สรนิตศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมถึงความยิ่งใหญ่ของงานในครั้งนี้ว่า ภายในงานประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมถึง 5 โซน มากมายองค์ความรู้ให้ทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, นิทรรศกลางที่นำเสนอประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน หรือมีความสำคัญ มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการพัฒนาประเทศในอนาคต, กิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในแนวทางสะเต็มศึกษา, นิทรรศการแสดงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมการนำเอาเทคโนโลยีและมัลติมีเดียใหม่ๆ มาใช้ในการจัดแสดง เพื่อสร้างประสบการณ์ เปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านสื่อ Interactive พร้อมด้วยนิทรรศการรูปแบบ 4DSimulator ที่มาช่วยเติมความสุข สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการให้มีความทันสมัยมีความเป็นสากล และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มกิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัยให้ได้ร่วมสนุกและทดลอง สำหรับนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด ได้แก่นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ (Royal Pavilion)นำเสนอพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และนำเสนอพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช“พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”รวมทั้ง นำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงมีบทบาทและให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.อรรชกาฯกล่าวแนะนำเพิ่มเติมอีกว่านิทรรศการหลัก ที่มีการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) และปีสากลแห่งการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอาทิ นิทรรศการนวัตกรรมพลังงาน(Innovation Energy) เข้าใจพื้นฐานพลังงาน วิวัฒนาการพลังงานความร้อน รู้จักกับแหล่งพลังงานในโลกและพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์แหล่งพลังงานธรรมชาติและแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน ชมนวัตกรรมพลังงานที่ต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้น พบกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ของวินมอเตอร์ไซค์ โดยผลงาน Start up นิทรรศการท่องเที่ยวยั่งยืน (International Year of Sustainable Tourism) สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวเมืองไทยกับภาพยนตร์ในรูปแบบ 4D Simulatorและเทคนิค 4D Effect สมจริงสนุกสนานที่ทุกคนรอคอย...โดยจะมียายพิกุล และหลานบุญมา สองช้างยายหลานที่อาสาพาผู้ชมไปชื่นชมกับความสมบูรณ์และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติการท่องเที่ยวไทยผ่านมุมมองใหม่ที่จะสนับสนุนให้การท่องเที่ยวยั่งยืนต่อไป พร้อมเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พบความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมโบราณที่บรรพบุรุษชาวไทยได้สร้าง ที่แม้แต่องค์กรระดับโลกอย่าง UNESCO ยังให้การยอมรับและขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก นิทรรศการนวัตกรรมอาหารและการเกษตร(Agriculture and Food Innovation) พบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปี ค.ศ. 2050 ชมSmart Farmer’s House ระบบการเกษตรแม่นยำสูง แนวทางการทำการเกษตรแนวตั้ง เกษตรครัวเรือน ชมนวัตกรรมด้านอาหารที่ทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคมและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ นิทรรศการยุคมนุษย์ครองโลก (Anthropocene) การใช้ทรัพยากรเกินจำเป็นแบบไม่จบสิ้นจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อาจทำให้การสูญพันธุ์กลับมาอีกครั้ง นิทรรศการนี้จะพาทุกคนเข้าสู่ยุค “มนุษย์กำหนดอนาคตโลก” ร่วมกับตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันหาทางออกแห่งอนาคตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะมาปรับให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ด้วยกันต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมสนุกไปกับบันไดยักษ์Carbon Playground เรียนรู้วิวัฒนาการของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยุคอดีตจนถึงปัจจุบันลองหา Carbon Footprint จาก Lifestyle ของคุณเอง แล้วตัดสินใจว่าอนาคตคุณจะปกป้องโลกได้อย่างไร นิทรรศการสูงวัยใกล้ตัว(Aging Society) พบกับเมืองจำลองสูงวัย ใคร ๆ ก็ต้องเจอ เข้าสู่ “เมืองเพิ่มอายุ” ที่จะทำให้ผู้เข้าชมสัมผัสประสบการณ์สูงวัย ทดลองเป็นผู้สูงวัยด้วยอุปกรณ์และฐานจำลอง 5 ฐานเพื่อความเข้าใจผู้สูงวัยมากขึ้น และเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ผู้สูงวัยในอนาคตที่ทุกคนต้องเจอสนุกกับเมืองอัจฉริยะแสนสุขสำหรับทุกช่วงวัย ในรูปแบบเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัยกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
นิทรรศการ Miracle of Science : สารพัดพิษ ที่นำเสนอในรูปแบบ Fantasy ดินแดนสารพัดพิษที่ปกคลุมด้วยไอหมอกแห่งความลึกลับกับเหล่าพืชพิษและสัตว์พิษที่ซ่อนเร้น และแฝงด้วยอันตรายในทุกย่างก้าว มาเรียนรู้เรื่องพิษที่มีโทษต่อมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้พิษเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้ในคราวเดียวกัน สนุกสนานกับละครและนิทานหรรษานานาพิษ ชมสัตว์ พืช แมลง ดอกไม้พิษชนิดต่าง ๆ และรู้จักว่าพิษของมันมาจากไหน นิทรรศการยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก(Monsters of The Sea) ที่จะนำผู้เข้าชมเดินทางไปในมหาสมุทรใต้ท้องทะเลลึก ตื่นตาตื่นใจไปกับสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดยักษ์โบราณที่เป็นจ้าวทะเลลึกในยุคMesozoic ซึ่งเป็นยุคเดียวกับไดโนเสาร์ ที่มีความยาวมากถึง 5-10 เมตร ด้วยเทคนิคการแสดง Animatronics ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวในชีวิตจริง ก่อนนำไปจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบที่ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี เร็ว ๆ นี้ อาทิ เพลซิโอซอรัส’ (Plesiosaurus) ตำนานต้นฉบับของเนสซีแห่งทะเลสาปล็อคเนสส์ ที่มาพร้อมกับ ‘เมกาโลดอน’ (Megalodon) ฉลามยักษ์ฟันโตขนาดเท่าฝ่ามือ เรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการ การปรับตัว และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ในท้องทะเล ตลอดจนสาเหตุของการสูญพันธุ์ยิ่งไปกว่านั้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมสำหรับเยาวชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ในแนวทาง STEM Education ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์และต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ วทน. ได้แก่ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ ลานกิจกรรมประกวดแข่งขัน ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
รศ.นพ. สรนิต ยังกล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนิทรรศการหลักแล้ว ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอีกมากมายที่มาร่วมกันเนรมิตพื้นที่ 40,000 ตารางเมตรของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ให้ยิ่งใหญ่อลังการ อย่างในวันแถลงข่าวนี้ก็มีตัวอย่างนิทรรศการจากหลายหน่วยงานมาร่วมจัดแสดง อาทิสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)นำเสนอตัวอย่างนิทรรศการ ชวนท่อง “อาณาจักรดาวเสาร์” จับตาภารกิจสำคัญ “ฉากสุดท้ายของยานแคสสินี : วีรบุรุษแห่งดาวเสาร์” ซึ่งจะโคจรเข้าสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนของดาวเสาร์ในวันที่ 15 กันยายน 2560 เพื่อเผาไหม้ตัวเอง พร้อมกับปิดฉากภารกิจการสำรวจของยานลำนี้อย่างสมบูรณ์, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำกิจกรรมไฟฉายจากหลอดแอลอีดี และวงจรไฟกระพริบ มาให้เยาวชนทดลองลงมือทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนกระทั่งพร้อมการใช้งาน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และเป็นการให้ความรู้พื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์แก่เยาวชน เป็นตัวอย่างในการประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น ที่ใช้เวลาน้อย และสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเอง,สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.)นำเสนอผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกด้วย วทน. ในพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้แก่ มะพร้าวอ่อนแก้วตราเคียงเลยขนมปังขาไก่จากกล้วยน้ำว้า ตรา บานานาแฟมิลี่ และสบู่กาแฟ ตรา คอฟฟี่ เป็นต้น ด้านกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)นำกิจกรรมเรียนรู้การทดลองทำภาพ 3 มิติ ด้วยเทคนิคฮอโลแกรม PyramidHalogram Screen จากแผ่นพลาสติก แสดงความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายธรรมดา (Photograph) และภาพฮอโลแกรม (Hologram) เยาวชนจะได้เรียนรู้คุณสมบัติการสะท้อนแสงของวัสดุพลาสติก
ในส่วนของนิทรรศการหลัก ได้นำตัวอย่างจัดแสดงจาก 3 นิทรรศการมาแสดงให้ดูเช่นกัน อาทินิทรรศการ MakerSpace จากสิ่งประดิษฐ์ สู่วิถีคิดนวัตกรรมแสดงตัวอย่างของสิ่งประดิษฐ์พิชิตปัญหาโดยการนำวัสดุที่มีอยู่ วัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุรีไซเคิลมาสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อการช่วยเหลือทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อาทิ กระดาษลัง, โฟม, ขวดน้ำดื่ม, ตะเกียบ, หนังยาง, เศษวัสดุเหลือใช้, ส่วนนิทรรศการ Miracle of Science : สารพัดพิษจัดแสดงตัวอย่างพืชและสัตว์มีพิษมาให้ชม
เช่น แมงกะพรุนกล่องและแมงกะพรุนหมวกโปรตุเกส ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรงมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง, มดกระสุนปืนมดที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกจากป่าอะเมซอนที่สามารถกัดคนตายได้ เป็นต้น รวมทั้ง ชมตัวอย่างอุปกรณ์ให้เยาวชนทดลองเป็นผู้สูงวัยจากนิทรรศการสูงวัยใกล้ตัวเช่น เครื่อง Ossiloscope เครื่องมือวัดสัญญาณไฟฟ้า การวัดความถี่ วัดเฟสของสัญญาณ, โมเดลสมอง, โมเดลกระเพาะปัสสาวะ, โมเดลกระดูกพรุน และหุ่นยนต์เสริมการเรียนรู้ AIM Robot โดยภาควิชาวิศวชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้แก่ครู ผู้ปกครองหรือผู้ที่สนใจในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กทั้งเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถนำไปใช้เสริมการสอนในรายวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ทักษะชีวิต และการฝึกพูดแก่เด็กๆ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ยังมีหน่วยงานร่วมจัดจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ อาทิ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาจัดแสดงนิทรรศการ “ทุกชีวิตมีคุณค่า จะดำรงรักษาอย่างไรให้คงอยู่” ตัวอย่างแมงกะพรุนดอง, ฟองน้ำหูช้าง และหอยจิ๋ว เป็นต้น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดแสดงผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและเครื่องสำอางจากพืชสมุนไพร อาทิ เครื่องสำอางจากสารสกัดถั่วหรั่ง, มาส์กว่านหางจระเข้ผสมสารสกัดว่านตาลเดี่ยวเป็นต้นส่วนบริติช เคานซิลนำเสนอโครงการ“ทูตสะเต็ม” (STEM Ambassador) เพื่อถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนได้เห็นประโยชน์ของการนำความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ไปใช้ในบริบทของชีวิตจริงและการประกอบอาชีพนอกจากนี้ ยังมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่มานำเสนอเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการวิศวกรรมด้วย Quaker Robotเป็นต้น
ด้าน นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่เป็นแม่งานสำคัญในการดำเนินการจัดงานในครั้งนี้ กล่าวถึงความพร้อมในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นี้มาก โดยเน้นให้มีความยิ่งใหญ่อลังการกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งพื้นที่การจัดแสดงที่จัดเต็มทั่วทั้งฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และเป็นงานวิทยาศาสตร์ที่จัดนานที่สุด ที่สำคัญยังมีผู้เข้าชมมากกว่า 1 ล้านคนในทุก ๆ ปี ซึ่ง อพวช. ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้เข้าชมจำนวนมาก โดยมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์พร้อมในทุกๆด้าน ทั้งด้านสถานที่ระบบสาธารณูปโภค ระบบการจราจร การบริการรถรับ-ส่ง การปฐมพยาบาล การรักษาความปลอดภัย การบริการต้อนรับ ร้านค้าร้านอาหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้เข้าชมงานที่คาดว่าปีนี้จะมีมากถึงกว่า 1.2 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมี 2 ดาราดังพรีเซ็นเตอร์ของงาน เก้า จิรายุ ละอองมณี และ น้องมายด์ ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล ซึ่งได้มาร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
โดย เก้า จิรายุ กล่าวว่า “จริงๆ แล้ว ตนเคยเป็นพรีเซ็นเตอร์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นี้มา3 ครั้งแล้ว ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ทุกครั้งที่มาเดินชมงานรู้สึกชื่นชอบ สนุกและได้ความรู้มาก ที่สำคัญรู้สึกประทับใจในความทุ่มเทของผู้จัดงานที่ช่วยกันเนรมิตทุกบูธนิทรรศการและกิจกรรมที่นำมาจัดแสดงได้อย่างน่าชื่นชมมาก และในปีนี้ก็เช่นเดียวกันที่ทุกคนจะได้พบกับเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยส่วนตัวแล้วสนใจนิทรรศการ Maker Space จากสิ่งประดิษฐ์ สู่วิถีคิดนวัตกรรมซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ในยุคปัจจุบันเพื่อปลดปล่อยจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ปลุกความเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือ "เมกเกอร์" (Maker)พบกับ Maker’s Showcase หุ่นยนต์กู้ภัย ชมผลงานจาก Maker Community มาร่วมกันฝึกทักษะการเป็น Maker จากความคิดสร้างสรรค์ ไปสู่การลงมือทำ กิจกรรม Kid Maker, Maker Studio ชมสาธิต 3D Printing และห้ามพลาดกับการแข่งขันบังคับ Drone หุ่นยนต์ Mindstrom เพื่อผ่านอุปสรรคในการปฏิบัติภารกิจท่ามกลางภาวะฉุกเฉิน”
ด้าน น้องมายด์ ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล อีกหนึ่งพรีเซ็นเตอร์คนดัง กล่าวว่า "สำหรับมายด์มีความชื่นชอบในวิชาวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยิ่งได้รับเกียรติให้เป็นพรีเซนเตอร์ของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีเช่นนี้ ก็ยิ่งรู้สึกยินดีมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยส่วนตัวในฐานะคนรุ่นใหม่อยากจะแนะนำนิทรรศการโลกดิจิทัล(Digital World) ที่จะทำให้เราตื่นตาตื่นใจไปกับเทคโนโลยีที่ทำให้กระแสของโลกเปลี่ยนแปลง อาทิ Lot (Internet of Things), Clould Technology, Big Data, Autonpmous, 3D Printing, VR, AR เป็นต้น พร้อมกันนี้เรายังจะได้สัมผัสโลกแห่งอนาคตกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเราอาทิ Smart Home Smart Education Smart Economy Smart Heath อีกด้วย"
ดร.อรรชกาฯ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่าขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2560 ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 17-27สิงหาคม 2560เวลา 09.00-19.00 น. ณ ฮอลล์ 2-8อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมสนุกและเรียนรู้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและร่วมกิจกรรม
ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook :มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ LINE ID: @thailandnstfair หรือ Instagram : Thailandnstfair หรือสอบถามข้อมูลที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9960สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร 025779999
ข่าวเด่น