แม้ว่าภาครัฐจะออกมาประกาศทุ่มงบก้อนโต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เม็ดเงินดังกล่าวก็ยังไม่หมุนเข้ามาในระบบ เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพียง 2.81% เท่านั้น ลดลงจากไตรมาสแรกที่อุตสาหกรรมค้าปลีกมีการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3.02%
จากปัจจัยลบเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้หลายจังหวัดของไทยต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้คาดการณ์กันว่าภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกในไตรมาส 3 นี้น่าจะยังอยู่ในภาวะชะลอตัว
น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์ค้าปลีกในไตรมาส 2 ยังคงกระจุกตัวเฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักๆของการท่องเที่ยว 2-3 จังหวัด ซึ่งการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้การเติบโตที่น้อย เมื่อเทียบกับยอดขายที่มาจากตลาดต่างจังหวัดคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ซึ่งยอดขายที่มาจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในภาวะชะลอตัว เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรกมีการขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก
กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา คือ หมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi Durable Goods) แม้ว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ทำให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนเพิ่มขึ้นไปด้วย ปัจจัยหลักที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง เติบโตต่ำกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับหมวดสินค้าคงทน (Durable Goods) ในกลุ่มของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงทรงตัว เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน ช่วงฤดูร้อนค่อนข้างสั้น และฤดูฝนก็เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ ในขณะที่กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างก็ยังไม่ฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตลดลง
อย่างไรก็ดี แม้ว่ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะเติบโตลดลง แต่ในด้านของกลุ่มสินค้าอิเลกทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน และกล้องถ่ายรูปมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น เห็นได้จากยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 40% เนื่องจากมีการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง
ส่วนหมวดสินค้าไม่คงทน (Non Durable Goods) หรือหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เริ่มส่งสัญญาณบวกในการฟื้นตัวช้าๆอย่างต่อเนื่อง นับจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วจนกระทั่งถึงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากมีการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เม็ดเงินงบประมาณเริ่มไหลลงสู่ประชาชนฐานรากของประเทศอย่างชัดเจนขึ้น
น.ส.จริยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานการณ์ค้าปลีกครึ่งหลังนี้ สมาคมฯ ค่อนข้างกังวลใจในเรื่องของกำลังซื้อในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะจากกลุ่มรายได้ปานกลางส่วนล่างและกลุ่มรายได้น้อย ที่ยังติดกับดักหนี้ครัวเรือนที่สูง ส่วนกลุ่มรายได้ปานกลางตอนบน การใช้จ่ายก็คงไม่คล่องตัว เนื่องจากมีหนี้บัตรเครดิตสูง ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวคาดการณ์ไว้ว่าอุตสาหกรรมภาคค้าปลีกในไตรมาส 3 น่าจะยังทรงตัว แม้ภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในปีนี้ แต่ผลจากการลงทุนจะส่งผลมายังภาคค้าปลีกก็ต้องใช้เวลา 6-8 เดือน จึงยังไม่มีผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกในครึ่งปีหลัง
ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ นายชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่ออกมาเปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณบวกเข้ามาช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกให้ฟื้นตัว ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังคงแข่งขันกันรุนแรง
ขอบคุณรูปจาก Post Today
นายชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังคงมีการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังทรงตัวทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงระวังการจับจ่ายใช้สอยและเน้นซื้อสินค้าโปรโมชั่นลดราคา ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกยังคงต้องใช้กลยุทธ์การทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เดอะมอลล์ ได้เตรียมใช้งบ 1,200 ล้านบาท ทำกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีภายใต้กลยุทธ์ แฟมิลี่ เซ็นทริค หรือการทำกิจกรรมการตลาดที่สอดคล้องไปกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ด้วยการสร้างประสบการณ์บนความเหมือนและแตกต่างของแคมเปญการตลาดต่างๆภายใต้ชื่อ แมททริค มาร์เก็ตติ้ง
นอกจากนี้ บริษัทยังจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การตลาดในรูปแบบออมนิชาแนล ด้วยการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์ไว้ด้วยกัน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ รีเทล 4.0 ซึ่งหลังจากออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เดอะมอลล์ มั่นใจว่าสิ้นปี 2560 นี้จะมีรายได้อยู๋ที่ 56,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 4%
ด้าน น.ส.สลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจห้างเทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลังนี้ค่อนข้างที่จะคาดเดายาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนของผู้บริโภคก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะชะลอตัว
จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ ห้างเทสโก้ โลตัส ต้องเดินหน้าทำกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่อง ด้วยการจำหน่ายสินค้าในราคาพิเศษทุกเดือน เพื่อช่วยผู้บริโภคลดค่าครองชีพ ซึ่งนอกจากจะมีการจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษถูกทุกวันอยู่แล้ว บริษัทยังจะมีการทำโปรโมชั่นแรงทุกสิ้นเดือน เช่น ซื้อ 1 แถม 1 เป็นต้น
แม้ว่าไตรมาส 3 นี้จะยังไม่มีสัญญาณบวกให้ใจชื้น แต่หลังจากเข้าสู่ไตรมาส 4 ซึ่งถือเป็นช่วงหน้าขาย ทุกคนมั่นใจว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมค้าปลีกสิ้นปีนี้กลับมาเติบโตได้ที่ 3-3.2% แน่นอน
ข่าวเด่น