ครม.ไฟเขียว ร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้สคร.ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหาร เน้นสร้างความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เล็งตั้งคนร.เป็นคณะกรรมการระดับชาติ ที่ต้องมีทุกรัฐบาล
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการเสนอ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ คือ จัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจนและโปร่งใส มีกระบวนการสรรหากรรมการที่ชัดเจน โปร่งใสและมุ่งเน้นประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงานและการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ มีกลไกระบบการกำกับดูแลที่ดี เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสและส่งเสริมความรับผิดชอบในการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล พัฒนาระบบประเมินผลที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์วิสาหกิจและนโยบายอย่างเป็นระบบ จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติและทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก
อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น จะทำให้การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจมีความบูรณาการเป็นระบบ และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น อันเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี
ทั้งนี้ ในดำเนินการนั้น จะให้สคร. ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะและรัฐวิสหกิจที่มีสถานะเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และให้จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เจ้าของรัฐวิสาหกิจ โดยฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัท 11 แห่ง
“การจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ให้ คนร.พิจารณาสั่งการให้กระทรวงการคลัง โอนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ 11 แห่ง เดิม 12 แห่ง ไปยังบรรษัทฯ โดยตัดธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ออกเนื่องจากปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่า 50% จึงไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ยังได้ให้อำนาจ คนร.เห็นชอบกรอบวงเงินลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท เพื่อให้คนร.มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทแทนการพิจารณางบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท”นายณัฐพร กล่าว
ทั้งนี้ รายชื่อ รัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) / บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) / บริษัท ขนส่ง จำกัด / บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) / บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) / บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด / บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / บริษัท ไปรณีย์ไทย จำกัด / บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกดั / บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
ข่าวเด่น