นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ e-Payment ว่า ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะเปิดคิวอาร์โค้ดกลาง เพื่อรองรับการชำระเงินอีกช่องทางหนึ่ง ขณะที่โครงการติดเครื่อง EDC ในปัจจุบันยอมรับว่ายังดำเนินการได้ช้า ดังนั้นจึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ในโครงการดังกล่าว โดยหลังจากนี้ กระทรวงการคลังจะเปลี่ยนชื่อโครงการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นโครงการขยายการใช้อิเล็กทรอนิกส์ มันนี่
"แม้ว่าจะมีคิวอาร์โค้ดที่ทำให้ชำระเงินในรูปแบบเดียวกับการใช้จ่ายผ่านบัตร แต่ยกเลิกการใช้ระบบติดเครื่อง EDC ไม่ได้ เพราะการใช้คิวอาร์โค้ด มันจะใช้ได้เฉพาะผู้ที่มีสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่อย่างผู้มีรายได้น้อยบางคนอาจไม่ได้มือถือแบบสมาร์ทโฟน ดังนั้นจึงยืนยันว่า EDC ยังมีความจำเป็น”นายอภิศักดิ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน โครงการ e-Payment สำหรับภาครัฐนั้น ล่าสุดได้ให้กรมสรรพากรไปพิจารณาในเรื่องการลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษ สำหรับภาคเอกชนที่ยื่นแบบธุรกิจอ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจจะให้สิทธิทางภาษี ทั้งกรณีซื้ออุปกรณ์ ซื้อโปรแกรม หรือ การยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาใช้ช่องทางการยื่นภาษีผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนได้ด้วย
สำหรับความคืบหน้าของโครงการลงทะเบียนในสวัสดิการของรัฐนั้น คาดว่า ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณามาตรการดังกล่าวได้ โดยในเบื้องต้นได้ตรวจสอบคุณสมบัติสำหรับผู้มีสิทธิรับสวัสดิการทั้งหมด 11 ล้านกว่าราย จากยอดผู้ลงทะเบียน 14 ล้านราย ซึ่งยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติม โดยการลงพื้นที่สำรวจของนักศึกษา ทั้งนี้ ยืนยันว่า บัตรสวัสดิการจะพร้อมใช้ได้แน่นอนในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยจะมีมาตรการ เช่น รถเมล์ รถไฟฟรี เป็นต้น ซึ่งในเดือนตุลาคมจะมีรถเมล์ที่ติดเครื่องรองรับบัตรแล้ว 800-900 คัน และขยายถึง 1,200-1,800 คันในสิ้นปีนี้ ขณะที่ปี 2561 จะมีรถติดเครื่องรับบัตรทั้งสิ้น 2,000 กว่าคันอย่างแน่นอน
“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมระบุว่า ส่วนของวงเงินของรถเมล์ หากประชาชนอยากขึ้นรถไฟฟ้าก็ให้หักจากวงเงินของรถเมล์ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่”นายอภิศักดิ์ กล่าว
นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะหารือกับกระทรวงการคลังในวันพรุ่งนี้ (10 สิงหาคม 2560) เพื่อให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในเมืองหลัก 14 จังหวัด หักลดหย่อนได้ 15,000 บาท ส่วนใน 12 เมืองต้องห้าม ให้หักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท และที่เหลืออีก 51 จังหวัด หักลดหย่อนได้ 50,000 บาท นั้น ตอนนี้ยังไม่เห็นใครเข้ามาหารือด้วย ทั้งนี้ ในเรื่องของมาตรการเข้าใจว่าทุกคนคิดได้ แต่ทำได้หรือไม่ มันต้องพิจารณางบประมาณของประเทศ ถ้าทำแล้วคุ้มค่ามีประโยชน์ สามารถทำได้ แต่หากไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่เห็นความจำเป็น
ข่าวเด่น