นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ลอยน้ำ หรือ FSRU ในอ่าวไทยปริมาณ 5 ล้านตัน/ปี รองรับการผลิตไฟในโรงไฟฟ้าของกฟผ. รวมทั้งศึกษา FSRU ในภาคใต้อีกสำหรับป้อนให้โรงไฟฟ้าจะนะ 3 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินแผนก่อสร้างล่าช้าออกไป
“ในส่วนของแอลเอ็นจีปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้นำเข้าหลัก ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ในขั้นตอนเสรี โดยมอบนโยบายให้ กฟผ. เข้ามาเป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีอีกราย ซึ่งในอนาคตปี 2563-64 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาเป็นผู้เล่นแข่งกันในธุรกิจแอลเอ็นจีอีก เพื่อรองรับความต้องการใช้แอลเอ็นจีที่เพิ่มขึ้น โดยคาด 2564-2566 ประเทศไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มเป็น 2,000 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 40% และปี 2570 เพิ่มเป็น 50-70% จากปัจจุบันนำเข้า 600 ลบ.ฟุต/วัน มีสัดส่วนเพียง 10% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
นายอารีพงศ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าแอลพีจีแข่งขันกัน จากปัจจุบันมี ปตท. เป็นผู้นำเข้าหลัก แต่ยังคงมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาขายปลีกไม่ให้ส่งกระทบต่อผู้บริโภค และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าต้องสร้างคลังแอลพีจีของตนเองเพื่อสำรองแอลพีจีเพิ่มเป็น 2% คิดเป็นปริมาณแอลพีจีที่ใช้ได้กรณีขาดแคลนเป็นเวลา 9 วัน จากเดิมกำหนดไว้ที่ 1%
โดยปี 2565-66 คาดไทยต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่ม 50,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนนำเข้า 20% และปี 2570 คาดสัดส่วนนำเข้าจะเพิ่มเป็น 30% ของปริมาณการใช้ จากปัจจุบันมีปริมาณการใช้ประมาณ 500,000 ตันต่อเดือน แบ่งเป็นการใช้ในภาคครัวเรือนสูงสุด 170,000 ตัน/เดือน ปิโตรเคมี 160,000 ตัน/เดือน ขนส่ง 110,000 ตัน/เดือน และอุตสาหกรรม 50,000 ตัน/เดือน ขณะที่ปัจจุบันการจัดหาในประเทศอยู่ที่ 470,000 ตัน/เดือน และนำเข้าจากต่างประเทศ 43,000 ตัน/เดือน คิดเป็น 10% ของปริมาณการใช้
นอกจากนี้ ปตท.ยังอยู่ระหว่างศึกษา FSRU ในเมืองกันบ็อก ประเทศพม่า ซึ่งในประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเดือนก.ย.นี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอให้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุน
ข่าวเด่น