แบงก์-นอนแบงก์
สสว.จับมือ หอการค้าไทย ยกระดับความสามารถ SME


นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ร่วมมือกับ หอการค้าไทย ยกระดับความสามารถ SMEs ไทย ประกาศความสำเร็จผ่าน 3 โครงการใหญ่ ทั้งโครงการสนับสนุน SMEs รุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง โครงการเตรียมความพร้อมรองรับ AEC และโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พบสร้างรายได้ให้แก่ SMEs เข้าร่วมมากกว่า 1 พันล้านบาท

          
เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 3 ล้านราย การพัฒนาส่งเสริม SMEs ที่มีจำนวนมากขึ้นให้มีสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของตลาดจนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องทำร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐและภาคเอกชน
       
 
 
สสว.ได้ปฏิบัติตามแนวทางประชารัฐ โดยร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยกระดับและพัฒนา SMEs ขนาดย่อม โดยดำเนิน 3 โครงการ 4 กิจกรรม ตั้งแต่เดือน ก.ย.59-ส.ค.60 ได้แก่ 1.โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 2.โครงการ Innovative Packaging for SMEs และ 3.โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC 
          
"มีผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการรวม 731 ราย สร้างรายได้ให้แก่ SMEs จำนวน 1,075.60 ล้านบาท ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เป็นรูปธรรมและสามารถเห็นผลลัพธ์ได้จริง" นางสาลินี กล่าว
         
 
นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 467 ราย สามารถบ่มเพาะเชิงลึกในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ โดยหลังการเข้าร่วมโครงการประมาณ 70% ของผู้ประกอบเข้าร่วมทั้งหมดสามารถทำบลูพริ้น นำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในธุรกิจของตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การประกอบธุรกิจในอนาคตอีกด้วย
          
โครงการที่สอง Innovative Packaging for SMEs ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์เชิงลึกให้กับผู้ประกอบการจนสามารถพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ ( Artwork) รูปแบบใหม่ตามที่ต้องการได้ ซึ่งจำนวน SMEs เข้าร่วมทั้งสิ้น 112 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกอีก 32 ราย ได้ต่อยอดการพัฒนาการพัฒนาจนสามารถสร้างเป็นบรรภัณฑ์ต้นแบบไปใช้ได้ในธุรกิจจริง
          
โครงการที่สาม คือ โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC ซึ่งประกอบด้วย 2 กิจกรรม โดยกิจกรรมแรก “AEC and SMEs Challenges: Next Steps – Business Matching มุ่งเน้นพัฒนาและสร้างเครือข่ายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ของไทย โดยนำคณะผู้ประกอบการจำนวน 95 บริษัท เดินทางร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ 3 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และ เมียนมา ทำให้เกิดการเจรจาธุรกิจทั้งสิ้น 575 คู่ และสร้างรายได้ให้กับ SMEs ไทย 575.6 ล้านบาท ส่วน​กิจกรรมที่สอง เป็นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อมุ่งสู่ AEC (Big Brother 50) กิจกรรมนี้มีรูปแบบกิจกรรมเป็นแบบบริษัทพี่ช่วยบริษัทน้อง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจและสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเชื่อมโยงในการดำเนินธุรกิจระหว่างธุรกิจขนาดย่อม (บริษัทน้อง) จำนวน 57 ราย และธุรกิจขนาดใหญ่ (บริษัทพี่) จำนวน 14 ราย โดยบริษัทน้องได้รับ Coaching กระบวนการธุรกิจตลอด Value Chain จากบริษัทพี่ จนสามารถนำไปสู่การขยายตลาดจากท้องถิ่นสู่อาเซียนและสู่ตลาดโลก โดยตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่บริษัทน้องเข้าร่วมบ่มเพราะธุรกิจภายใต้โครงการ สามารถพัฒนาตัวเองและสร้างรายได้ให้แก่ SMEs เข้าร่วมได้กว่า 500 ล้านบาท
           
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทยประเมินว่า ทั้งปี 2560 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.5-4.0% ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นแต่สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับบทบาทของเทคโนโลยีและดิจิตอลที่ทวีความสำคัญส่งผลต่อโลกธุรกิจ ทั้งการสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น อย่างธุรกิจ e-Commerce ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความท้าทายให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ที่จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับตัว กับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไป การค้าจะเป็นแบบไร้พรมแดน (Borderless) โดยค้าขายบน Smart Trade Platform ขณะที่การเกษตรจะเป็นเกษตรสมัยใหม่มีการเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม ส่วนภาคบริการจะทวีความสำคัญมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ
          
"หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และพัฒนา SMEs โดยการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม SMEs ผ่านศูนย์ TCC SMART Center (TSC) ซึ่งจะมุ่งเน้นการให้บริการเชิงรุก เข้าถึงง่ายและจับต้องได้จริง เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ 4.0 ให้สมาชิกสามารถนำข้อมูล นวัตกรรม และมาตรฐาน ไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดความรู้และประสบการณ์ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการทุกระดับ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ และแนวทางการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ" นายกลินท์กล่าว

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ส.ค. 2560 เวลา : 17:56:35
17-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 17, 2024, 5:45 am