เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐมนตรีพลังงานลงพื้นที่โคราช เยี่ยมชมศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร และการใช้ระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ แก้ปัญหาภัยแล้ง


รัฐมนตรีพลังงานเยือนโคราช  เตรียมร่วมประชุมครม.สัญจร พร้อมปฏิบัติราชการเยี่ยมชมศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร และการใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ชี้เป็นต้นแบบความสำเร็จจากโครงการประชารัฐ แก้ไขปัญหาขยะชุมชนผลิตพลังงาน และการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนช่วยชุมชน บริหารจัดการน้ำในการเกษตร สร้างรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า


พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปยังจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ระหว่างวันที่ 21 -22 สิงหาคม 2560 โดยได้ปฏิบัติราชการในพื้นที่ เข้าเยี่ยมชมและรับทราบความคืบหน้าโครงการศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร ที่เทศบาลเมืองสีคิ้ว เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเอทานอล บริษัท เคไอ เอทานอล จำกัด และความสำเร็จจากโครงการระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งของชุมชน บ้านหนองพฤกษ์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบโครงการประชารัฐด้านพลังงาน

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า การเยี่ยมชมโครงการที่จังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดโครงการประชารัฐด้านพลังงาน โดยกระทรวงพลังงาน ได้สนับสนุนโครงการนำร่องที่สำคัญๆ ในพื้นที่ ซึ่งวันนี้ได้เข้ารับทราบข้อมูลและความคืบหน้าที่สำคัญๆ  ได้แก่ โครงการนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบครบวงจร (แบบกระจายศูนย์) โดยมีการก่อสร้างโรงงานจัดการขยะ เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel : RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 4 แห่ง ตั้งอยู่ที่ สีคิ้ว

 
ด่านขุนทด เมืองปัก และเทศบาลแชะ  โดยปัจจุบันทั้ง 4 แห่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และเริ่มทดลองใช้งานแล้ว โดยมีขยะเข้าสู่โรงงานทั้ง 4 แห่ง รวม 140 ตันต่อวัน ผลิตเชื้อเพลิง RDF ได้วันละ 50 ตัน

ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดการผลิตเชื้อเพลิง RDF ดังกล่าว จึงได้มีการก่อสร้างศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานจากของเสียและขยะชุมชน ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และจะมีโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ภายในศูนย์สาธิตฯ โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างทดสอบระบบ ซึ่งจะได้ใช้เชื้อเพลิง RDF จากโรงงานจัดการขยะทั้ง 4 แห่งดังกล่าว สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่มหาวิทยาลัย ฯ โดยปัจจุบันเชื้อเพลิง RDF ที่ผลิตได้ 50 ตันต่อวัน ยังสามารถจำหน่ายให้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซิเมนต์ ทีพีไอ และสยามซีเมนต์ ในราคาตันละ 1,000 บาท

นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าของโครงการใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของชุมชน กรณีศึกษาบ้านหนองพฤกษ์ อำเภอจักราช ซึ่งเป็นความร่วมมือรูปแบบประชารัฐ ระหว่าง สำนักงานพลังงานจังหวัดนครราชสีมา สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขานครราชสีมา และชาวบ้านชุมชนบ้านหนองพฤกษ์ โดยเป็นโครงการที่ใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สูบน้ำบาดาลขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อใช้ในระบบประปาของหมู่บ้าน การสูบน้ำได้ปริมาณน้ำ 28.64 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ทดแทนการใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนราคาสูงให้ลดลง

โดยจากข้อมูลพบว่า โครงการฯ ได้เริ่มติดตั้งระบบตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ช่วยให้ชุมชนประหยัดค่าไฟรวมทั้งสิ้น 351,261 บาท ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 87,815 หน่วย ชาวบ้านหนองพฤกษ์ สามารถประหยัดค่าน้ำได้ 491,412 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากการลดค่าน้ำประปาจากหน่วยละ 5 บาท เหลือเพียงหน่วยละ 2 บาท จากการกำหนดของโครงการฯ ซึ่งประโยชน์โดยรวมที่ได้รับ ชาวบ้านหนองพฤกษ์ได้แก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน มีน้ำเพียงพออุปโภคบริโภค ลดต้นทุนด้านพลังงาน ได้ใช้น้ำราคาถูกเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

“การตรวจเยี่ยมโครงการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดโครงการประชารัฐ โดยกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน มุ่งเน้นลดรายจ่ายด้านพลังงาน ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น และประโยชน์จากพลังงานทดแทน รวมทั้งยังให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการลงทุนร่วมกับภาครัฐ ซึ่งคือมิติใหม่แห่งการพัฒนาพลังงงานอย่างยั่งยืน  ลดการนำเข้าพลังงาน และช่วยให้การผลิตและใช้พลังงานมีความมั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต” พล.อ.อนันตพร กล่าว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ส.ค. 2560 เวลา : 15:00:23
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 10:54 pm