เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรม Demo Day โครงการ Digital Innovation Startup Apprentice Batch 2 หรือโครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจเริ่มต้น รุ่น 2 เพื่อเป็นเวทีให้น้องๆ นักศึกษาจำนวน 11 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากทั้งหมด 22 ทีมในวันบูธแค้มป์ ร่วมพิชชิ่งนำเสนอผลงานนวัตกรรมดิจิทัลเริ่มต้น ที่ผ่านการลีนสตาร์ทอัพ (Lean Startup) จากผู้เชี่ยวชาญในโครงการที่ติวเข้มทักษะการเป็นสตาร์ทอัพตลอด 2 เดือนเศษที่ผ่านมา (มิ.ย. - ส.ค. 60) ผลพบว่า ผลงานจองตลาดนัดออนไลน์ พระเครื่องออนไลน์ และ Bring ระบบนำส่งผู้สูงอายุ เป็น 3 ทีมโดนใจคณะกรรมการคว้าทุนพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม ทีมละ 30,000 บาท
นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจเริ่มต้น หรือ Digital Innovation Startup Apprentice ดำเนินการขึ้นแล้วเป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งแนวคิดเกิดจากความต้องการสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีสามารถพัฒนาผลงานต้นแบบนวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้ คือผลิตสินค้าหรือบริการขึ้นมาแล้วและสามารถขายได้ตามที่ต้องการ
โดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือ Customer Centric รวมถึงธุรกิจไอทีและซอฟต์แวร์ด้วย ที่ลูกค้าต้องการใช้งานใดให้ทำธุรกิจตอบสนองสิ่งนั้น เรียกได้ว่าเป็นการ Lean Development Process ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจคนใช้นั่นเอง ซึ่งโครงการนี้ ซอฟต์แวร์พาร์ค ร่วมกับพันธมิตรผู้ดำเนินโครงการคือ ศูนย์ C asean จับมือพัฒนาโครงการขึ้นมา เพื่อฝึกประสบการณ์การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ทักษะการเป็นสตาร์ทอัพ ทักษะการพิชชิ่งนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกรรมการตัดสินในเวทีสตาร์ทอัพระดับชาติ ซึ่งซอฟต์แวร์พาร์คมีความมุ่งมั่นจะดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ได้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรม สอดคล้องนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย”
สำหรับ 11 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาพิชชิ่งในวัน Demo Day ครั้งนี้ ได้รับโอกาสขึ้นเวทีพิชชิ่งทีมละ 7 นาทีและถามตอบ 3 นาที โดยมีเกณฑ์การพิจารณา ได้แก่ ความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ ความมุ่งมั่นและความสามารถของทีม และผลกระทบของผลงาน ผลการพิชชิ่ง พบว่า 3 ผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ทีมละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ทีมจองพื้นที่ตลาดนัด: จองตลาดนัดออนไลน์ จากน้องๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยอีสเทริน์เอเชีย ทีมพระเครื่องออนไลน์: ศูนย์กลางแลกเปลี่ยน/เช่าพระเครื่อง และบริการดูพระ จากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีม Bring ผู้สูงอายุ: ระบบนำส่งผู้สูงอายุ จากนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ผลงานจองพื้นที่ตลาดนัด: จองตลาดนัดออนไลน์
ฝั่งผู้ดูแลตลาด จะมีระบบบริหารจัดการพื้นที่ตลาด การดูแลตลาดผ่านระบบออนไลน์ได้ การมีระบบแจ้งเตือนการจองและการชำระเงินของพ่อค้าแม่ค้า การตรวจสอบได้ว่าพื้นที่ตลาดมีที่ว่างหรือไม่ ขณะที่ฝั่งพ่อค้า-แม่ค้า จะสามารถจองพื้นที่ล๊อคตลาดผ่านระบบออนไลน์ได้ มีระบบการชำระเงินออนไลน์ มีหลักฐานการจองที่ชัดเจน และสามารถเช็คได้ว่าตลาดไหนมีพื้นที่ว่าง
ผลงานพระเครื่องออนไลน์ (World Amulet 3D): ศูนย์กลางแลกเปลี่ยน/เช่าพระเครื่อง และบริการดูพระ
World Amulet 3D คิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มผู้ศึกษาพระเครื่อง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยการผนวกเทคโนโลยี 3 มิติ จากประสบการณ์ความรู้ด้านการถ่ายภาพ พร้อมทั้งนำปัญหาในการศึกษาพระแท้ (องค์ความรู้จากเซียนพระ) มาสร้างเป็น “เทคโนโลยีศึกษาพระเครื่อง 3 มิติ” ที่สามารถดูพระเครื่องแท้ได้แบบ 360 องศา รองรับ 3 ภาษา และระบบซื้อขาย-ประมูล ให้ใช้งานง่าย ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์เคลื่อนที่ (Smart Phone)
ผลงาน Bring ผู้สูงอายุ: ระบบนำส่งผู้สูงอายุ
Bring เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการหาผู้ดูแลผู้สูงอายุจากศูนย์บริบาลใกล้บ้าน เพื่อมารับส่งผู้สูงอายุที่บ้านไปโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่บุตรหลานไม่สะดวกหรือติดภารกิจ พร้อมการจัดการเรื่องต่างๆ ให้เรียบร้อยจนกระทั่งส่งกลับถึงบ้าน
ข่าวเด่น