ยังคงมีการขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่องสำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูง หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) เนื่องจากปัจจัยลบรอบด้านยังคงรุมเร้าผู้บริโภคให้ชะลอการจับจ่ายใช้สอยไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หรือราคาพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนปัญหาหนี้สินในครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูง เพราะรายรับยังไม่สอดคล้องกับรายจ่าย
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงทำให้ผู้บริโภคหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าบางกลุ่มที่ไม่จำเป็น จึงทำให้ภาพรวมกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่มียอดขายลดลง ประกอบกับช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือห้างค้าปลีกก็ต่างออกมาทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายทั้งลด แลก แจก และแถมกันอย่างหนักหน่วง จึงทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ากักตุนไว้เป็นจำนวนมาก และส่งผลให้ปีนี้สินค้าอุปโภคบริโภคมียอดขายที่ลดลง เนื่องจากสินค้าที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2559 ยังใช้ไม่หมด
ทั้งนี้ จากการวิจัยของ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ KWP ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายเชิงลึกของผู้บริโภค ซึ่งเน้นไปที่ตัวผู้บริโภคที่ทำการซื้อจริง ครอบคลุมการวิจัยทั้งด้านพฤติกรรมการจับจ่ายให้สมบูรณ์ในด้าน Take Home (ซื้อเพื่อใช้ในบ้าน) และ Out of Home (ไลฟ์สไตล์การบริโภคนอกบ้าน) โดยมีจุดเด่นคือ เป็นการใช้ฐานกลุ่มผู้บริโภคตัวอย่างขนาดใหญ่ในลักษณะเป็น ครัวเรือนกว่า 4,000 กลุ่มครัวเรือน ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเป็นการเก็บข้อมูลจาก “ตะกร้าสินค้า” ผ่านเทคโนโลยีล้ำหน้า “กันตาร์ แอปพลิเคชัน - Panel Smart” ที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้บน Smartphone และรองรับทั้งระบบ iOS และ Android เป็นรายแรกของประเทศไทยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีการดิ่งลงตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมายังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด และยางพารายังตกต่ำ
นอกจากนี้ ปัจจัยหนี้ในครัวเรือนยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดกำลังการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างเต็มที่ แต่อัตราหนี้ในครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2553 - 2559 ยังคงอยู่ในระดับที่สูง โดยในปี 2553 ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 59 ต่อมาปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 66 ปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 72 ปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 77 ปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 81 และ ไตรมาส 2 ปี 2559 ยังคงอยู่ในระดับ 80
นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ KWP กล่าวว่า จากข้อจำกัดด้านกำลังซื้อตลอดจนนิสัยการจับจ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คือ ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อสินค้ามากขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อสถิติการเติบโตที่ถดถอยของตลาด FMCG มาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษหรือประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสังเกตได้จากยอดขายของกลุ่มสินค้า 3 กลุ่มหลักในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 จนถึง ไตรมาส 2 ของปี 2560 มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ไตรมาส 2 ของปี 2560 นี้ กลุ่มสินค้าในครัวเรือน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.3 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มีการขยายตัวที่ 4.1 เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคลในไตรมาส 2 ปี 2559 มีการขยายตัวที่ 6.2 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งขยายตัวที่ 6.5 เป็นต้น
เมื่อมองในแง่ของพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยภาพรวมในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคทำการ - ซื้อน้อยลง (Buy Less) และ จ่ายน้อยลง (Pay Less) โดยในส่วนของ การซื้อน้อยลงประกอบไปด้วย ปริมาณสินค้าที่ซื้อน้อยลง กลุ่มสินค้าที่ถูกซื้อน้อยลง และลดความถี่ที่ออกไปจับจ่ายสินค้า
ส่วนการจ่ายเงินน้อยลงนั้น ประกอบไปด้วย การซื้อสินค้าในขนาดบรรจุที่เล็กลง การเลือกซื้อในช่วงมีโปรโมชั่น และที่อันตรายที่สุด คือ การเปลี่ยนช่องทางร้านค้าที่ซื้อสินค้าไปเลย และสถานการณ์ที่เหล่าผู้ค้าปลีกทั้งหลายต้องเผชิญอยู่นั้น เป็นการรับศึกหนักกับการที่ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น
นายอิศณาติ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลวิจัยจะแสดงให้เห็นถึงสถิติด้านความถี่ในการออกไปจับจ่ายจากปี 2555 ถึงปี 2560 สถิติความถี่การซื้อสินค้ามีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 210 ครั้งต่อปีปรับตัวลดลงเหลือเพียง 201 ครั้งต่อปี เนื่องจากผู้บริโภคจะเน้นซื้อสินค้าตามความจำเป็นมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนกลุ่มในการเลือกกซื้อสินค้ามีการปรับตัวลดลงจาก 44 กลุ่มสินค้าเหลือเพียง 42 กลุ่มสินค้าในปัจจุบัน และอีกหนึ่งสิ่งที่พบในขณะนี้ คือ ผู้บริโภคยังเลือกซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชั่นมากขึ้นจาก 25% เป็น 36%
นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะถูกบริโภคมากขึ้นนั้น จะเป็นกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร หรือ สินค้า “Home Meal” ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กะทิกล่องสำเร็จรูป (Coconut Milk), น้ำยาซักผ้า (LQD Detergent), ส่วนผสมและเครื่องปรุงอาหาร (Meal Maker), นมถั่วเหลืองสเตอริไลซ์ (Sterilized Soy Milk), ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง (Insect Repellant), เครื่องดื่มชนิดผงชงดื่ม (RTD TFD), น้ำส้มสายชู (Vinegar), นมดื่มสเตอริไลซ์ (Sterilized LQD Milk), ขนมแปรรูปจากปลาหมึก (Cuttle Fish Snack), นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม (UHT DKY) หรือข้าว (Rice)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าช่องทางการขายสินค้าอุปโภคบริโภคในด้านของออฟไลน์จะปรับตัวลดลง แต่ในด้านของออนไลน์กำลังเป็นช่วงขาขึ้น เห็นได้จากผลการตอบรับในการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีสถิติเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ายังมีสัดส่วนที่ยังไม่ใหญ่นักก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันคนไทยหันมาให้ความสนใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เพราะมีความสะดวกสบายมากกว่าเดินทางไปซื้อเอง
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค และห้างค้าปลีกหันมาให้ความสนใจทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลและสนองนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยทรานฟอร์มสู้ยุคไทยแลนด์ 4.0
แม้ว่าตอนนี้ยอดขายของสินค้าอุปโภคบริโภคในช่องทางออฟไลน์จะยังไม่ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการก็ยังคงคาดหวังว่าช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะต้องปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นหน้าขายสินค้า จะเติบโตได้อย่างที่หวังหรือไม่คงต้องรอลุ้นกัน แต่ที่แน่ๆ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ ออกมาประกาศชัดว่าสิ้นปีนี้จีดีพีของไทยอาจแตะ 4% หากการส่งออกโตทะลุ 5.7%
ข่าวเด่น