วิทยาศาสตร์
ฟ้าหลังฝน!! วิทยาศาสตร์ฯ มธ. พบ "สารต้านอนุมูลอิสระ" ในคราม จ.สกลนคร ครั้งแรก


 

 

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พบสารต้านอนุมูลอิสระในคราม ของจังหวัดสกลนครครั้งแรก หลังพบมากถึง 3-5% ต่อปริมาณผงคราม 50 กรัม เพียงนำไปผ่านกระบวนการสกัดใน 3 ขั้นตอน คือ คัดแยก การคัดแยกส่วนต่างๆ ของพืชเป็น 3 ส่วน เพื่อเอื้อต่อการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในแต่ละส่วน สกัดสาร การสกัดแบบต่อเนื่องโดยใช้ความร้อนสูง ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จยิ่งในการผลักดันเศรษฐกิจฐานรากของไทย ทั้งการสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกครามในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ควบคู่กับการลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบสูงถึง 37.85% โดยที่ล่าสุดงานวิจัยดังกล่าว อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้สามารถสกัดเป็นสารบริสุทธิ์ และพร้อมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบรนด์ไทยที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

 

 

ผศ.ดร.นิรมล ศากยวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่าผ้าย้อมครามถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนาน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากคนโบราณนำกิ่งครามมาแช่น้ำด่างเพื่อหมักเอานำครามมาย้อมผ้าและมัดเป็นลวดลายต่างๆ ด้วยเล็งเห็นคุณสมบัติของการสวมใส่ที่เย็นสบาย ระบายความร้อนได้ดี และสามารถปกป้องผิวกายได้จากแสงยูวี ฯลฯ ซึ่งพื้นที่ปลูกครามในประเทศไทย จะพบมากในจังหวัดสกลนคร ดังนั้น จึงนำไปสู่งานวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสารสกัดจากคราม(Indigofera Tinctoria) เพื่อศึกษาวิจัยสารเคมีธรรมชาติที่แฝงอยู่ในแต่ละส่วนของคราม .สกลนคร ผ่านการทดลองสกัดสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ ในแง่ของการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดธรรมชาติ ที่ได้มาตรฐาน และไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างในผิว ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรผู้ปลูกครามและผู้ประกอบการ รวมถึงลดการนำเข้าสารเคมีบางชนิดจากต่างประเทศ

 

  

 

ผศ.ดร.นิรมล กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนในการสกัดหาสารต้านอนุมูลอิสระสามารถทำการทดสอบได้ใน 3 ขั้นตอน คือ ขั้นคัดแยก การคัดแยกส่วนต่างๆ ของพืชไปตากแห้ง และนำมาบดด้วยเครื่องปั่นจนละเอียด เพื่อให้สามารถสกัดสารต้านอนุมูลอิสระได้ง่ายยิ่งขึ้น ขั้นสกัดสาร การสกัดแบบต่อเนื่องโดยใช้ความร้อนสูง ผ่านตัวทำละลายที่มีจุดเดือดต่ำที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผงครามตัวอย่าง ขั้นตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การตรวจสอบสารเคมีตามธรรมชาติที่พบในพืช และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ผ่านการทดสอบความเข้มข้นของสี ซึ่งหากสารดังกล่าว มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก จะมีสีน้ำเงินอมดำเข้ม แต่ในกรณีที่มีฤทธิ์เบาบาง ความเข้มของสีก็จะเจือจางลงไป โดยอาจจะปรากฎเป็นสีน้ำเงิน หรือสีฟ้า ฯลฯ ควบคู่ไปกับการหาความเข้มข้นของสารสกัดที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ที่ 50% ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของสีจากสีม่วงเป็นสีเหลือง 

 

 

 

 

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในครามทั้ง 3 ส่วนนั้น พบว่า ส่วนที่พบสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดคือเมล็ดโดยพบเป็นสัดส่วนถึง 3-5% ต่อสารสกัดจำนวน 50 กรัม โดยส่วนใหญ่จะพบสารต้านอนุมูลอิสระจำพวก รูติน (Rutin) ที่ช่วยยับยั้งอาการภูมิแพ้ และเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือดฝอย อิพิคาเทซิน (Epicatachin) ที่ช่วยขับสารพิษในร่างกาย และลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็ง และ กรดแกลลิค (Gallic Acid) ที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก และลดความดันเลือด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น จะพบสารต้านอนุมูลอิสระในใบแก่มากที่สุด (ที่มา : งานวิจัยโดยนายคยอง ซูคิม (Kyung-suKim) และคณะ ฉบับที่ 46, ปี 2555) ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นได้นำสารสกัดมาต่อยอดสู่ผลิตเวชสำอางในสหรัฐอเมริกาหลากชนิด อาทิ ครีมทามือ ครีมลดเลือนริ้วรอย ครีมบำรุงผิวกาย ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรผู้ปลูกต้นครามอีกทางหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย มีการนำเข้าสารเคมีและสารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากต่างประเทศ ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2548 พบว่า วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมากที่สุดคือเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐานคิดเป็นมูลค่า 6,968 ล้านบาท โดยสัดส่วนการใช้วัตถุดิบของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย แบ่งเป็นวัตถุดิบในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 62.15 กับวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 37.85 เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ในปริมาณ 5% ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรล่าสุด พบว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 35,566.71 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 27.78% ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

 

 

อย่างไรก็ดี สำหรับงานวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสารสกัดจากครามเป็นผลงานการศึกษาวิจัยของ นางสาวญาดา พูลเกษม บัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โดยมี ผศ.ดร.สมจิต ดำริห์อนันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม โดยที่ล่าสุด อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาต่อยอดร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีคุณภาพในอนาคต คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. โดยสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยให้มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ร่วมกัน เพื่อหนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการลดต้นทุนการนำเข้าสารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากต่างประเทศ ควบคู่ไปการช่วยภาคการเกษตรลดปริมาณวัสดุเหลือทิ้งได้เป็นจำนวนมาก เพียงผ่านกระบวนการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่าง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่ให้วิตามินซีสูง ฯลฯ มาทดลองสกัด เพื่อค้นหาสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น ผศ.ดร.นิรมล กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 2452 หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564- 4440-59 ต่อ 2010 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th


LastUpdate 08/09/2560 15:19:48 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:02 am