อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร) เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM ครั้งที่ 49 ในวันที่ 7 กันยายน 2560 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมผลักดันการดำเนินการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีความคืบหน้า
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ AEM ได้ติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 หรือ AEC Blueprint 2025 ในประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนและลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ฟิลิปปินส์ผลักดันเป็นผลงานในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน อาทิ 1) การจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-wide Self-Certification) ที่เป็นระบบเดียว 2) การเร่งดำเนินการจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียนฉบับใหม่ (ATISA) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 3) การสร้างตัวชี้วัดสำหรับวัดผลการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายในภูมิภาค 4) การจัดทำกรอบการดำเนินงานเพื่อให้ธุรกิจรายเล็กและรายย่อยสามารถร่วมอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก 5) การริเริ่มแนวทางใหม่ๆเพื่อส่งเสริมการด้านลงทุน เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่าง MSMEs กับบริษัทข้ามชาติ (MNEs) การปรับปรุงกฎระเบียบการจดทะเบียนธุรกิจของสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศให้สอดคล้องกัน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนของอาเซียน เป็นต้น
นอกจากนี้ AEM ได้ร่วมกันให้การรับรองเอกสารสำคัญ 7 ฉบับ ได้แก่ แนวทางในการจดทะเบียนธุรกิจที่ดีของอาเซียน กรอบการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับสูงของอาเซียน แผนงานการเสริมสร้างสมรรถนะด้านนโยบายและกฎหมายแข่งขันในภูมิภาคของอาเซียน คู่มือการประเมินตนเองในการบังคับใช้กฎหมายและการส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายแข่งขันของอาเซียน กรอบการดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วมของอาเซียน ขอบเขตการดำเนินการสำหรับการส่งเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจไปประจำการที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนของประเทศสมาชิกอาเซียน และแผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งกำหนดแนวทางการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน สำหรับช่วงระยะปี 2560-2563 ทั้งในด้านการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้โปร่งใส การพัฒนาระบบการชำระเงินที่ปลอดภัย และการจัดทำความตกลงด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนภายในปี 2018
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า การพบกันครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจยังได้ร่วมเปิดตัว ASEAN Services Report ที่รวบรวมนโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ส่งผลต่อบริการสาขาต่างๆ ทั้งในประเทศและภูมิภาค รวมทั้งได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกสรุปการจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน หรือ AFAS ให้ได้ภายในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้มีเพียงไทยและสิงคโปร์ที่สามารถดำเนินการเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ข้อผูกพันดังกล่าวจะมีผลให้สมาชิกอาเซียนเปิดตลาดด้านบริการระหว่างกันมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการในประเทศอาเซียนได้มากขึ้น
สำหรับประเด็นสำคัญในด้านความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือเพื่อเตรียมที่จะประกาศความสำเร็จในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งเจรจามากกว่า 3 ปี ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ฮ่องกง ครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 กันยายน นี้ โดย AEM มีกำหนดจะให้การรับรองเอกสารสำคัญร่วมกับประเทศคู่เจรจาในระหว่างการประชุมกับแต่ละประเทศ อาทิ แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน+3 (อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) ปี 2560-2561 แผนกิจกรรมความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ และแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-รัสเซีย หลังปี 2560 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้หารือเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP 16 ประเทศ เพื่อเร่งรัดผลักดันให้การเจรจา RCEP ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา 6 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ให้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญโดยเร็ว
ในช่วงการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจยังได้ร่วมหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กและรายย่อย เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นแนวโน้มของโลกในขณะนี้ ทั้งในด้านของการส่งเสริมขีดความสามารถและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายในอาเซียน โดยเห็นควรผลักดันให้ระบบ ASEAN Single Window สามารถใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบโดยเร็ว รวมทั้งให้ความสำคัญกับความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายเล็กๆ และการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยเพื่อให้รายใหญ่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินธุรกิจด้วย
ข่าวเด่น