ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เร่งสานสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น 130 ปี จับมือหน่วยงานเศรษฐกิจไทยพร้อมด้วยคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชนระดับสูงจากญี่ปุ่นกว่า 500 ราย หารือแนวทางการยกระดับและสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกัน เผยญี่ปุ่นให้ความสนใจในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเตรียมให้การสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยด้วยการถ่ายทอดการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนผู้ประกอบการ นักลงทุนจากไทยและญี่ปุ่นอีกกว่า 1,400 รายเข้าร่วมรับฟังโอกาสแห่งความร่วมมือของภาครัฐบาล ภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น ในการส่งเสริมและยกระดับการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศ ทั้งยังจะผลักดันให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ Industry 4.0 ผ่านโครงการ Flex Campus ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสถานทูตญี่ปุ่น ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สำนักงาน EEC กับ JICA และบริษัท Hitachi ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและ JETRO ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ ในวันนี้ด้วย
ดร.สมคิด เปิดเผยว่า ปี 2560 นับเป็นปีที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและญี่ปุ่น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเป็นเวลายาวนานถึง 130 ปี โดยความสัมพันธ์อันแนบแน่นนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายสาขากิจกรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและการเมือง ความร่วมมือทางการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนการร่วมทุน-ลงทุน ฯลฯ สำหรับในปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยในช่วงครึ่งปีแรกญี่ปุ่นมีเงินลงทุนโดยตรงไปแล้วกว่า 4.73 หมื่นล้านบาท มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็นอีกร้อยละ 55 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การผลิต Hybrid Vehicle มูลค่า 19,547 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ มูลค่า 15,182 ล้านบาท กิจการผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์ มูลค่า 3,083 ล้านบาท ฯลฯ
นอกจากนี้จำนวนสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยยังมีจำนวนถึง 1,748 บริษัท ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศยังต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกมาก และหลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของไทยเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเกิดการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นในบริบทและรูปแบบที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ดร.สมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้นำคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อหารือร่วมกับผู้บริหารภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมทั้งสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren)
ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมศูนย์ธุรกิจของญี่ปุ่นในสาขาต่าง ๆ ผลจากการเดินทางในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของข้อตกลงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมหลายประการมากขึ้น เกิดการลงนามในบันทึกข้อตกลงใหม่ๆ อีกหลายฉบับ โดยเฉพาะข้อตกลงระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยที่จะร่วมมือกันยกระดับภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังนำมาสู่การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งพิเศษของคณะผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน ที่นำโดย Mr. Hiroshige Seko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (JETRO) องค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) ผู้บริหารระดับสูงของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) รวมทั้งผู้บริหารชั้นนำในภาคเอกชน โดยโอกาสดังกล่าวถือเป็นประวัติศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจร่วมคณะเดินทางมากที่สุดถึงเกือบ 600 คน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการเดินทางที่นอกเหนือจากการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจตามเป้าหมายของทั้ง 2 ประเทศ โดยหน่วยงานไทยยังได้จัดกิจกรรมสำคัญทั้งการเข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมรับฟังทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศไทย 4.0 เพื่อให้สร้างความมั่นใจ และรับทราบถึงแนวทางความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายไปสู่อนาคตด้วยกัน
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ยังได้ร่วมกันจัดการสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries เพื่อนำเสนอโอกาสแห่งความร่วมมือของภาครัฐบาล ภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่นในการส่งเสริมและยกระดับการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เดินทางมายังประเทศไทย ทั้งยังได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการไทย ผู้ประกอบการญี่ปุ่นทั้งในระดับ LEs และ SMEs ตลอดจนนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมสัมมนากับคณะ METI ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,400 คน ทั้งนี้ เนื้อหาการสัมมนาจะอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่ METI ได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไทยไปสู่ Industry 4.0 พร้อมด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์และผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้เป็นรูปแบบจนเกิดเป็นการทำงานอย่างชาญฉลาด รวมทั้งการลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายในหลายๆ เรื่อง อาทิ
1) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรม ฝั่งภาคเอกชนระหว่าง Keidanren, Japan Chamber of Commerce and Industry สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย
2) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สำนักงาน EEC กับ JICA และบริษัท Hitachi
3) ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ Industry 4.0 โดยอาศัยองค์ความรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยเพื่อช่วยพัฒนาวิศวกรและอาชีวศึกษาของไทยในอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ ผ่านโครงการ “Flex Campus”
4) ความร่วมมือในการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ของไทยระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับองค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ)
5) ความร่วมมือด้านการค้า ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ฯลฯ
อีกทั้ง ยังได้มีการจัด Business Matching ระหว่างนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทยในกลุ่ม 5 อุตสาหกรรม 1) ยานยนต์ 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3) เกษตร อาหาร และสุขภาพ 4) ธุรกิจบริการ และ 5) หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน
ส่วนความร่วมมือด้านแผนงาน EEC ที่เป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตนั้น ทั้งสองฝ่ายจะผลักดันให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นและหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยในวันที่ 13 กันยายนนี้ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำ Mr. Hiroshige Seko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นพร้อมคณะ เดินทางไปยังพื้นที่จริงของ EEC ณ สนามบินอู่ตะเภา รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อเป็นการแสดงถึงความพร้อมและศักยภาพในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเรือ ระบบสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงความตั้งใจอย่างเป็นรูปธรรมในการผลักดัน EEC ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดร.สมคิด กล่าวปิดท้าย
ด้านนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเข้าสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมในครั้งที่ 4 ซึ่งภาครัฐฯและภาคเอกชนของญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญพร้อมตระหนักเสมอว่า ญี่ปุ่นและเอเชียจะต้องทำอย่างไรกับการปฏิวัติครั้งสำคัญนี้ โดยเฉพาะในภาคแปรรูปที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว สำหรับภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ต้องยอมรับว่ามีทั้งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ มีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมีอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมากมาย แต่ปัญหาที่สำคัญในขณะนี้คือยังไม่สามารถแบ่งปันและเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียด้วยกันได้ และด้วยอุปสรรคที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของนโยบาย Connected Industries ที่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันไม่ว่าจะเป็น ห่วงโซ่การผลิต การบริการ ฐานข้อมูล องค์ความรู้ ฯลฯ นอกจากนี้ในเดือนที่ผ่านมารัฐมนตรี METI ยังเปิดเผยอีกว่า ตนได้มีโอกาสในการเดินทางเยี่ยมเยือนประเทศเช็คโกสโลวาเกีย ซึ่งในประเทศนี้และเยอรมันถือเป็นประเทศต้นแบบในการสร้างระบบออโตเมชั่น และระบบดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าช่วยลดอัตราการว่างงานของประชากรในประเทศให้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น ตนได้เห็นรูปแบบและตัวอย่างแนวทางของทั้งสองประเทศที่จะนำมาเสริมสร้างขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมในประเทศของตนรวมถึงประเทศไทยในเร็วๆนี้ อาทิ การดีไซน์สายการผลิต การนำเรื่องระบบ Data และ IOT มาปรับใช้ ซึ่งในอนาคตต่อไปคนไทยก็จะมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเหล่านี้ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเอสเอ็มอี ต่อเนื่องถึงการนำไปเผยแพร่ยังประเทศเครือข่ายโดยรอบในฐานะเทรนเนอร์ อาทิ CLMV อาเซียน โดยญี่ปุ่นยังจะมุ่งสู่การถ่ายทอดการสร้างระบบ Smart Maintainance หรือนวัตกรรมการยืดอายุการใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจับมือส่งเสริม Startup Company การพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้กับไทย ซึ่งเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบาย Thailand 4.0 จะป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่นำทางไทยไปสู่ศูนย์กลางภูมิภาค และหวังให้ไทยเป็นสายพานที่เชื่อมไปยังฐานการผลิต และห่วงโซ่ต่างๆในประเทศที่อยู่โดยรอบ โดยในความสัมพันธ์ 130 ปีนี้ ญี่ปุ่นเองก็จะรวบรวมพลังประชาชนและรัฐบาลให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ทั้งสองประเทศก้าวไปสู่เป้าหมายโดยที่ไม่ทอดทิ้งกัน
ข่าวเด่น