สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามพัฒนาการและความนิยมในการระดมทุนด้วยการเสนอขาย digital token ต่อสาธารณชน (Initial Coin Offerings - ICO) ซึ่งผู้ลงทุนจะนำเงินดิจิทัล (cryptocurrency) เช่น Bitcoin หรือ Ether มาแลกกับ digital token ดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ระดมทุนผ่าน ICO สามารถออกแบบให้ digital token แสดงถึงสิทธิของผู้ถือ digital token ได้อย่างหลากหลาย digital token บางลักษณะจึงอาจเข้าข่ายเป็นตราสารทางการเงินที่มีการให้ผลตอบแทนและสิทธิต่าง ๆ ที่คล้ายกับหลักทรัพย์ภายใต้กฎหมาย ก.ล.ต.
ICO เป็นช่องทางเข้าถึงทุนที่สะดวก รวดเร็ว และได้รับความนิยมมากจากกลุ่มเทคสตาร์ทอัพ (tech startups) โดย ICO ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดในไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจนมีมูลค่าสูงกว่าการระดมทุนผ่าน venture capital หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมถึง ก.ล.ต. จึงมีความกังวลว่า ICO อาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่สุจริตใช้หาประโยชน์จากประชาชนได้
ก.ล.ต. มีนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงทุนของธุรกิจ ซึ่งรวมถึงกลุ่มเทคสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และเห็นว่า ICO สามารถเป็นกลไกที่ช่วยตอบโจทย์เรื่องการระดมทุนให้ธุรกิจดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หาก ICO ใดมีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ ผู้ระดมทุนก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย / กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ยอมรับว่าการทำธุรกิจของกลุ่มเทคสตาร์ทอัพมีความแตกต่างจากธุรกิจในรูปแบบที่คุ้นเคย และการระดมทุนลักษณะดังกล่าวอาจไม่สอดรับกับเกณฑ์การกำกับดูแลหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม และยินดีรับฟังทุกความเห็นจากภาคธุรกิจ เพื่อไม่ให้มีกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ในขณะที่ยังสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่สุจริตอาศัยช่องทางนี้หลอกลวงเงินจากประชาชน
ก.ล.ต. ขอให้ประชาชนที่สนใจลงทุนใน ICO ควรทำความเข้าใจลักษณะโครงการที่มาระดมทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพราะนอกจากความเสี่ยงของธุรกิจสตาร์ทอัพโดยทั่วไปแล้ว ยังอาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา การขาดสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ รวมทั้งการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวงจากผู้มีเจตนาทุจริต นอกจากนี้ เนื่องจาก ICO ส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมข้ามประเทศ จึงอาจมีข้อจำกัดเรื่องความคุ้มครองและการเยียวยาผู้ลงทุนตามกฎหมายอีกด้วย
ข่าวเด่น