นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และในนามประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ปรับขั้นตอน และกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในกองทุนดังกล่าวให้กระชับมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึง ปรับสัดส่วนวงเงินสินเชื่อใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการของเอสเอ็มอีในพื้นที่ ซึ่งการปรับกระบวนการดังกล่าว อยู่บนพื้นฐาน ไม่กระทบต่อเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ
โดยปรับ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เหลือเพียง 2 ขั้นตอนเท่านั้นพิจารณาจากด้านของคุณสมบัติ และวัตถุประสงค์ในการขอรับสินเชื่อเป็นสำคัญ จากนั้นจะส่งเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อได้ทันที 2.กำหนดให้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐประจำส่วนกลาง/ประจำจังหวัด รวมถึง คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ ประจำส่วนกลางและประจำจังหวัด เปิดการประชุมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง จากเดิมประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
3.ผ่อนปรนการเรียกตรวจเอกสาร โดยขอให้ส่งเฉพาะเอกสารที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาก่อน ส่วนเอกสารประกอบอื่นๆ สามารถส่งตามภายหลังได้ และ 4. ปรับสัดส่วนวงเงินสินเชื่อ ซึ่งเดิมรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท อยู่ในสัดส่วน 75% และรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท อยู่ในสัดส่วน 25% มาเป็นสัดส่วน 50:50% เท่ากัน กล่าวคือ สินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท อยู่ในสัดส่วน 50% และรายที่ขอสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท อยู่ในสัดส่วน 50% ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละพื้นที่ ที่จำเป็นใช้วงเงินสูงขึ้นในการลงทุนและปรับปรุงกิจการ
ทั้งนี้ จากการปรับกระบวนการดังกล่าว สามารถพิจารณาอนุมัติให้สินเชื่อได้กว่า 9,900 ล้านบาท ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยจะเร่งรัดเข้าคณะอนุกรรมการวิเคราะห์เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐประจำส่วนกลาง/ประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ ประจำส่วนกลางและประจำจังหวัด โดยเร็ว
สำหรับการดำเนินการพิจารณาสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ณ วันที่ 14 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไปได้แล้วถึง 4,971 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเร่งรัดพิจารณา อีกจำนวน 5,025 ล้านบาท
"สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการลงทุน และปรับปรุงกิจการ ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้แก่เอสเอ็มอี ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการตัดสินใจในรายละเอียดของการลงทุน เช่น แบบก่อสร้าง spec เครื่องจักร จำเป็นต้องมีเอกสารข้อมูลประกอบการลงทุน ถึงแม้กองทุนจะผ่อนปรนเอกสารให้ตามกระบวนการดังกล่าว แต่ผู้กู้ก็ต้องใช้เวลาตัดสินใจลงทุนหรือปรับปรุงกิจการ ดังนั้นสินเชื่อกองทุนจึงมีกระบวนการแตกต่างจากสินเชื่อปกติทั่วไปที่เน้นให้เงินทุนหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว" นายสมชาย กล่าว
ข่าวเด่น