เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ปฏิเสธสินเชื่อบุคคลพุ่ง รับเกณฑ์ใหม่ธปท.


การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ควบคุมการออกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา  เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจ  โดยน.ส.ณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส  ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เปิดเผยว่า   อัตราการอนุมัติสินเชื่อ บุคคลในเดือน ก.ย. ลดลงเหลือ 39% จากเดือน ส.ค. อยู่ที่ 43% ซึ่งเป็นผล มาจากการปรับหลักเกณฑ์กำกับดูแล สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็นลูกค้าสินเชื่อบุคคลไม่เกิน 3 บริษัท   ทำให้ผู้ที่เป็นลูกค้าต้องถูกปฏิเสธ     ซึ่งประเมินว่า มาตรการของ ธปท.จะส่งผลให้มีลูกค้าใหม่ลดลง 5% 


และนางธีรนารถ พ่วงมหา  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เปิดเผยว่า มาตรการคุมเข้มบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของแบงก์ชาติ โดยเฉพาะกรณีการปรับลดดอกเบี้ย  จาก 20% เป็น 18%  กระทบรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพอสมควร ส่งผลให้ธนาคารจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้รายได้ของธุรกิจบัตรเครดิตเติบโตได้ต่อเนื่องรวมถึงการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตปีนี้ที่ 10%  ส่วนกรณีการลดวงเงินสินเชื่อจาก 3 เท่าเป็น 1.5 เท่า  ไม่กระทบต่อธุรกิจบัตรของธนาคารมากนัก 
  
ขณะที่นางโสมรัศมิ์  จันทรัตน์  จันทร์วิไลศรี หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า งานวิจัยเรื่อง "X- Ray พฤติกรรมการกู้ของคนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร  ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2552-เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า  โดยเฉลี่ยคนไทยมีสัญญาเงินกู้ 3 สัญญา  และมีจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ 2 แห่ง  แต่มี 1 ใน 6 ของคนไทย มีเงินกู้ถึง 5 สัญญาและ 1 ใน 10 ที่ใช้สถาบันการเงิน 5 แห่ง จากข้อมูลพบว่า  หนี้รถยนต์ และหนี้รถจักรยานยนต์เป็นหนี้เสียถึง 24% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการรถคันแรกที่กระตุ้นให้ผู้กู้ที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่ตลาดรถยนต์ ส่วนสินเชื่อรถจักรยานยนต์พบว่าผู้กู้ถึง 37% เป็นหนี้เสีย ประเมินว่าเป็นผลมาจากรายได้ที่ไม่แน่นอน   เพราะรายได้ขึ้นอยู่กับ ราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับสินเชื่อรถจักรยานยนต์เงินดาวน์ต่ำ ทำให้เมื่อไม่มีเงินผ่อนผู้กู้ก็ยอมทิ้งรถ
          
ส่วนกลุ่มผู้กู้ที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปีและกลุ่มวัยหลังเกษียณที่มีหนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลสูงและสัดส่วนหนี้เสียมากขึ้นในกลุ่มผู้กู้ที่มีหลายสัญญากับหลายสถาบันการเงิน   นอกจากนี้ผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่กู้กับนอนแบงก์มีคุณภาพของหนี้ที่ต่ำกว่าสถาบันการเงิน ตรงกันข้ามกับสินเชื่อบัตรเครดิต ที่ผู้มีบัตรเครดิต 1 ใบ กับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว เป็น กลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด เนื่องจากสะท้อนว่าศักยภาพในการหารายได้และการชำระเงินต่ำ ทำให้ไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้หลายใบ 

นางสาวอัจจนา  ล่ำซำ  หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย กล่าวว่า จากผลวิจัยพบว่าการใช้สินเชื่อบ้านและบัตรเครดิตในกลุ่มพวกกู้ชนบทยังมีอยู่น้อย แม้ว่าจะเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพดี ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการใช้และการเข้าถึง   ดังนั้นควรส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิตในชนบท  เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริโภค การทำธุรกิจ ให้คนในชนบท ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2560 เวลา : 22:21:40
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 11:43 pm