กรมบัญชีกลางกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในกรณีต่างๆ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องชัดเจน
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้แจ้งเรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้อย่างถูกต้องชัดเจน
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง มีดังนี้
1. ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน แต่หากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุนั้นเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมาย ให้ใช้วิธีคัดเลือกได้ หรือเป็นกรณีมีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้
2. การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก โดยให้คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือก จัดทำหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไม่น้อยกว่า 3 ราย เพื่อพิจารณาคัดเลือก หรือการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ให้คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง จัดทำหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายหรือรับจ้างนั้นโดยตรงรายใดรายหนึ่งมายื่นเสนอราคา และให้คณะกรรมการสามารถต่อรองราคาได้เท่าที่จะทำได้
3. การจัดซื้อจัดจ้างวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้ดำเนินการซื้อหรือจ้างได้โดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยให้เจ้าหน้าที่เจรจาตกลงราคากับผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายหรือรับจ้างนั้นโดยตรง แล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ซื้อหรือจ้างได้ภายในวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ
4. การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุ หรือวิธีเฉพาะเจาะจงกรณีจัดซื้อจัดจ้างพัสดุทั่วไปและมีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท หรือวิธีเฉพาะเจาะจงกรณีมีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง และขั้นตอนการลงนามในสัญญาหรือข้อตกลง ก็ได้รับการยกเว้นให้หน่วยงานของรัฐสามารถลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงได้ โดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้นระยะเวลาอุทธรณ์
5. การบันทึกข้อมูลในระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-GP จนถึงขั้นตอนบันทึกรายละเอียดของรายงานขอซื้อหรือขอจ้างที่ได้รับอนุมัติ เพื่อประกาศเปิดเผยข้อมูลประกาศราคากลางและการคำนวณราคากลางของสำนักงาน ป.ป.ช. สำหรับการบันทึกข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนอื่นๆ ของวิธีดังกล่าว ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในระบบ GFMIS ต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าวก่อนการจัดทำ PO เพื่อเบิกจ่ายเงินต่อไป
“แนวทางปฏิบัติดังกล่าว กรมบัญชีกลางจะเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับใหม่ ได้อย่างถูกต้องและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น” นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวในตอนท้าย
ข่าวเด่น