
วงการธุรกิจประกันภัยกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงปลายปี เมื่อรัฐบาลอนุมัติมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดยยกเว้นเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิต หรือ บริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ด้านประกันสุขภาพนั้น สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามาตรดาของคู่สมรสของผู้มีเงินได้ ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง 15,000 บาท โดยต้องเป็นเบี้ยประกันที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งเชื่อว่า มาตรการดังกล่าว จะช่วยสร้างหลักประกันสุขภาพและช่วยลดภาระในด้านค่ารักษาพยาบาลของผู้มีเงินได้ และมาตรการนี้มีส่วนในการลดภาระทางการคลังของภาครัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชน
ขณะที่ปัจจุบัน ผู้มีเงินได้สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายให้แก่บริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร เฉพาะกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ที่มีการประกันชีวิต มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
นอกจากนี้ ผู้มีเงินได้สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้เพิ่มอีกในอัตรา 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดยผู้ที่ซื้อประกันภัยสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัยในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไป สามารถนำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท มาลดหย่อนภาษีได้ โดยที่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเมื่อนำมารวมกับค่าลดหย่อนในการทำประกันชีวิต และการฝากเงิน ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะต้องมีวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งมาตรการนี้เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มหลักประกันให้กับผู้เสียภาษีได้มากขึ้น
ข่าวเด่น