กองทุนรวม
บลจ.ไทยพาณิชย์จ่ายปันผล 3กองทุนตปท.


นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯ เตรียมจ่ายปันผลกองทุนต่างประเทศพร้อมกันจำนวน 3 กองทุน ในวันที่ 22 กันยายน 2560  นี้ สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-31 สิงหาคม 2560 ได้แก่กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นอินเดีย (SCBINDIA) จ่ายปันผลในอัตรา 0.0974 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 3 โดยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 25.31% ต่อปี, 6 เดือนอยู่ที่ 9.59% ต่อปี และ 1 ปี อยู่ที่ 16.74 %ต่อปี  (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ย.2560) มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ iShares India 50 ETF ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (NASDAQ) บริหารงานภายใต้ความดูแลของ BlackRock และมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของ CNX NIFTY Index เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับผลตอบแทนของ CNX NIFTY Index TR USD 

 
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (SCBEMBOND) จ่ายปันผลในอัตรา 0.1575 บาทต่อหน่วย นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 3 โดยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 5.06% ต่อปี 6 เดือนอยู่ที่ 3.17% ต่อปี และ 1 ปี อยู่ที่ 4.77% ต่อปี(ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ย.2560) มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน JPMorgan Funds – Emerging Markets Investment Grade Bond Fund ชนิดหน่วยลงทุนShare Class C (ACC) ลงทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สิน มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่บริหารงานโดย J.P Morgan Asset Management 
 
สำหรับอีก 1 กองทุน คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์ (SCBGHC)  สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2559 -31 สิงหาคม2560 โดยจ่ายปันผลในอัตรา 0.2057 บาทต่อหน่วย ซึ่งได้มีการจ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 จำนวน 0.0444 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.1613 บาทต่อหน่วย นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 2 โดยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 20.67 %ต่อปี 6 เดือนอยู่ที่ 9.13% ต่อปี และ 1 ปีอยู่ที่ 9.70% ต่อปี

ทั้งนี้กองทุน SCBGHC  มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ Janus Global Life Sciences Fund ชนิดหน่วยลงทุน I Share Class (Institutional Share Class) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในการดำเนินชีวิต (Life Sciences) หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ บริษัทด้านการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมไปถึงบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือตลาดอื่นใดที่ได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เป็นต้น  
 
นายสมิทธ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นอินเดียเป็นตลาดหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่มีผลตอบแทนที่โดดเด่นในปีนี้ นอกจากจะเป็นการปรับขึ้นตามตลาดหุ้นภูมิภาค (regional) อันเนื่องมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าแล้ว ประเทศอินเดียยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยฤดูมรสุมที่คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจะอยู่ในระดับปกติ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้ภาคการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่านโยบายปฏิรูปภาษีหรือ GST จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว
 
ส่วนภาพรวมหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์มีอัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สอดคล้องกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับนักลงทุนคาดการณ์ว่าการปฏิรูปร่างกฎหมายประกันสุขภาพจะส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่ม Healthcare ไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากผลประกอบการของบริษัทในกลุ่ม Healthcare ที่ออกมาแข็งแกร่งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่ม Healthcare อาจได้รับผลกระทบทางลบจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นหากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการลดขนาดสินทรัพย์ในงบดุลรวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
 
ในขณะที่ตลาดพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่สามารถผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้ ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย จึงส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าและมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลาดพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากการลดขนาดสินทรัพย์ในงบดุลของธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ และส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงได้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2560 เวลา : 18:48:19
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 9:43 am