เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC ชี้ FED ลดงบดุลกระทบค่าเงินบาทน้อยกว่าประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ประกาศจะเริ่มลดขนาดงบดุลอาจไม่กระทบค่าเงินบาทมากนัก แต่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลมากกว่า

          
โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ประกาศจะเริ่มลดขนาดงบดุลหรือทำให้งบดุลเข้าสู่ระดับปกติ (balance sheet normalization) ในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะดำเนินการตามแผนซึ่งเคยประกาศไว้ภายหลังการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน โดยเริ่มต้นจากการหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (reinvest) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-Backed Securities: MBS) รวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และทยอยเพิ่มปริมาณการหยุด reinvest จนกระทั่งลดงบดุลทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แต่ยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาสิ้นสุดการลดงบดุลที่ชัดเจน
          
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ FOMC มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ไว้ในช่วง 1.00-1.25% โดยคณะกรรมการของ FOMC ส่วนใหญ่มองว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ในช่วง 1.25-1.50% ณ สิ้นปี 2017
          
EIC มองว่าผลกระทบของการลดขนาดงบดุลอาจไม่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตรง เนื่องจาก Fed ได้ประกาศว่าจะดำเนินการลดงบดุลตามแผนที่ประกาศไว้ ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ได้และไม่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินมากนัก อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบจากมุมมองและการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า ทั้งนี้หาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยโยบายอีก 1 ครั้งในเดือนธันวาคม ประกอบกับปัญหาทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่เริ่มคลี่คลาย จะส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น เป็นผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปที่ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2017
          
"การลดขนาดงบดุลจะส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชนสูงขึ้น โดยการลดขนาดงบดุลจะมีผลให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจทยอยลดลง และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15 bps ต่อปีตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป ทั้งนี้จะทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอีไอซีประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.45% และ 2.65% ณ สิ้นปี 2017 และ 2018 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ต้องเผชิญต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น เป็นความเสี่ยงต่อเนื่องที่อาจกดดันการลงทุนภาคเอกชน" เอกสารเผผผยแพร่ ระบุ
          
การที่ Fed ประกาศเริ่มการลดงบดุลและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดการเงินยังคงสงบ ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นในวันที่ 20 กันยายน 2017 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดาวน์โจนส์ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.19% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P 500 ปิดตลาดสูงขึ้น 0.06% โดยนักลงทุนมองความเสี่ยงในตลาดลดลงสะท้อนจาก VIX index ที่ปรับตัวลงเล็กน้อยที่ -3.4% ขณะที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดตลาดแข็งค่าขึ้นที่ 0.78% ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2 basis points มาอยู่ที่ 2.27% สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเช้าวันนี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากราคาปิดที่ 0.13% ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียเคลื่อนไหวไร้ทิศทาง
          
EIC คาดว่า ธปท. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในปี 2017 ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 3.7%YOY จาก 3.3%YOY ในไตรมาสแรก โดยเฉพาะการส่งออกเติบโตอย่างโดดเด่น อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศยังคงอ่อนแอทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังแสดงความกังวลถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบการเงินในระยะต่อไป    
          
และการที่ Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ขณะที่ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยข้อมูลจาก Dot Plot แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ FOMC ยังคงมีมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยเหมือนการประชุมครั้งก่อน ซึ่งมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้และอีก 3 ครั้งในปี 2018 ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2.0% โดย Fed คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเพียงพอที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นได้ ปัจจัยหลักมาจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปีอยู่ที่ 4.4% ในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้การบริโภคในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ Fed ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจฯ ปีนี้ไปที่ 2.4% จาก 2.2% ที่เคยคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ลงมาที่ 1.5% จาก 1.7% โดยระบุว่าจะติดตามการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
          
EIC มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ การที่คณะกรรมการ FOMC ยังคงมุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เหมือนเดิม สะท้อนได้ว่าคณะกรรมการ FOMC ให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ชัดเจนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยยังระบุว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราว และมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจนเข้าใกล้กรอบเป้าหมายในปี 2018 พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่าอัตราการว่างงานจะลดลงต่อเนื่องจาก 4.3% ในปีนี้ไปสู่ 4.1% ในปีหน้า
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2560 เวลา : 19:12:53
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 1:48 am