การตลาด
สกู๊ป "ธุรกิจหนังสือ" ยังทรุด ลุยขยายลูกค้าภูธร-ต่างประเทศ


ธุรกิจหนังสือถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เห็นได้จากภาพรวมของอุตสาหกรรมในปีนี้ที่ยังคงออกมาคาดการณ์กันว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือน่าจะยังมีอัตราการเติบโตที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมหนังสือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 26,000 ล้านบาท

 

 

นอกจากนี้ การที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง เนื่องจากมีสื่ออื่นๆเข้ามาทดแทนมากขึ้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือของคนไทยไม่ขยายตัวเหมือนกับหลายๆประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่ส่วนใหญ่เริ่มหันมาให้ความสนใจในด้านของการสนับสนุนในด้านของการอ่านและการศึกษามากขึ้น ซึ่งหนึ่งในประเทศที่พัฒนาในด้านของการอ่านอย่างเห็นได้ชัดของภูมิภาคอาเซียน คือ เวียดนาม เห็นได้จากอัตราเฉลี่ยการอ่านหนังสือต่อปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50 เล่มต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราเฉลี่ยการอ่านหนังสือต่อปีอยู่ที่ประมาณ 5 เล่มต่อปีเท่านั้น

จากผลกระทบที่เปิดขึ้นดังกล่าวโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในด้านของเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านหนังสือต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปให้ทัน ด้วยการหันมาจำหน่ายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันยังสามารถขยายฐานลูกค้าไปในตลาดต่างจังหวัดได้อย่างทั่วถึง แม้ไม่มีหน้าร้าน

 

 

การปรับตัวที่เกิดขึ้นดังกล่าวของธุรกิจร้านหนังสือ ส่งผลให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาร้านหนังสือมีการทยอยปิดกิจการไปจำนวนมาก ขณะที่บางรายก็หันมาปรับกลยุทธ์ด้วยการใส่บริการใหม่ๆ เข้าไป เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า จะเห็นได้ว่าปัจจุบันร้านหนังสือส่วนหนึ่งเริ่มมีการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นโค-เวิร์คกิ้งสเปซ และอีกส่วนหนึ่งปรับพื้นที่เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆมากขึ้น

 

 

นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมหนังสือในสิ้นปี 2560 นี้น่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว เพราะหนังสือถือเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นผู้บริโภคจึงมองเป็นสินค้าสิ่งสุดท้ายที่จะเลือกซื้อ อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตที่ทรงตัวดังกล่าวถือเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัว 

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือจะเติบโตทรงตัว แต่การขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ถือว่าขยายตัวค่อนข้างสูง เห็นได้จากอัตราการเติบโตของสมาชิกของสมาคมฯ ที่ปรับกลยุทธ์ไปขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์  ซึ่งมียอดขายเติบโตสูงถึง 100-200%  ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ มีการขยายช่องทางไปในช่องทางออนไลน์มากขึ้น คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 50% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดกว่า 100 ราย

นอกจากจะปรับกลยุทธ์ด้วยการขยายช่องทางขายในออนไลน์แล้ว การขยายช่องทางการขายไปในตลาดต่างจังหวัด ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดงานหนังสือกระจายไปตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ  เพื่อกระตุ้นการอ่านและการจับจ่ายซื้อหนังสือ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของสถานที่ เพื่อดำเนินการจัดงานดังกล่าว 

ขณะเดียวสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยก็มีแผนที่จะจัดโรดโชว์ไปตามประเทศต่างๆเพื่อขยายฐานลูกค้าในตลาดต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มประเทศให้ความสนใจเข้าไปทำตลาด คือ อาเซียน เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการบางส่วนได้ทดลองนำหนังสือเข้าไปจำหน่ายบ้างแล้วในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น  ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งได้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ

 

 

นางสุชาดา กล่าวต่อว่า แนวทางดังกล่าวถือเป็นแผนในอนาคตที่สมาคมฯจะก้าวเดินไป เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและอุตสาหกรรมหนังสือให้มีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น แต่ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าว ล่าสุดสมาคมฯได้เตรียมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 (Book Expo Thailand 2017) ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งในส่วนของการจัดงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิดความทรงจำซึ่งเชื่อมโยงกับนิทรรศการหลักของงานคือความทรงจำ

ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร  และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือ ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมบรรณาธิการไทย กสทช.  มิวเซียมสยาม โครงการสารานุกรมไทย และสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อวงการหนังสือของไทยผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสือที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ 

 

 

สำหรับไฮไลท์ของนิทรรศการความทรงจำ ในส่วนที่เปิดเผยได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์นักสะสมหนังสือและภาพโบราณจะนำ นิตยสาร วงวรรณคดี ฉบับเดือนส..2490 ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษให้ตีพิมพ์ พระราชนิพนธ์เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรกเมื่อทรงขึ้นครองราชย์มาจัดแสดงร่วมกับหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มอื่นๆ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 7 ทศวรรษในรัชสมัยของพระองค์ 

นอกจากนี้ยังมีสิ่งพิมพ์และของที่ระลึกต่างๆ ที่จัดทำขึ้นหลังวันสวรรคต 13 ..2559 จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่รวบรวมหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาแสดงให้ชมมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งช่วงที่มีการจัดงานดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1.8-2 ล้านคน และมีเม็ดเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า 500-600 ล้านบาท

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.ย. 2560 เวลา : 12:57:02
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 5:50 pm