ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตลอดปี 2017 จากการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มปรับดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราที่สูง อีกทั้ง การบริโภคภาคเอกชนก็ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องสนับสนุนโดยรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น แต่ยังเปราะบางเนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง
อาจกล่าวได้ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีจุดประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ของภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุน อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งหากพิจารณาช่วงปี 2015 - 2016 หลายประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง สวนทางกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในภาวะที่เงินเฟ้อยังไม่เกินกรอบเป้าหมาย
การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนอย่างมีนัยยะสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนของประเทศเหล่านี้ ในช่วงก่อนและหลังการลดอัตราดอกเบี้ย จะพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 4 ครั้ง ภายใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2016 แต่แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม เมื่อเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2015 – 2016 จนถึงกลางปี 2017 ที่ขยายตัวที่ 4.9%, 5% และ 5% ตามลำดับ
ยกเว้นประเทศแคนาดา ที่การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากเฉลี่ยที่ 2% ในปี 2015 ขยับขึ้นเป็น 2.6% และ 3% ในปี 2016 และ ครึ่งแรกของปี 2017 หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปี 2015
การลงทุนปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของการส่งออก ไม่เกี่ยวกับปัจจัยของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นอกจากนี้ การลงทุนก็ไม่ได้ปรับดีขึ้นหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2017 จากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ดี โดยประเทศอินโดนีเซีย การลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่ 4.5% มาเป็น 5.1% ในครึ่งแรกของปี 2017 จากการส่งออกที่เติบโตกว่า 18% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2017 จากที่หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012
ในขณะที่ประเทศแคนาดา การลงทุนภาคเอกชนจากที่หดตัวตั้งแต่ปี 2015 ก็กลับมาขยายตัวได้ 1.3% ในปี 2017 จากการส่งออกที่ขยายตัวกว่า 9.3% หลังจากที่หดตัวติดต่อกันสองปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจึงไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวในการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน แต่ยังต้องอาศัยความมั่นใจของผู้ประกอบการเกี่ยวกับโอกาสการทำกำไรในอนาคตด้วย
สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้จะยังเปราะบางอยู่ ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ยาวจนถึงสิ้นปีนี้ แต่มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 2 ครั้งในปีหน้า หากการลงทุนภาคเอกชนไทยกลับมาฟื้นตัวชัดเจนและเฟดยังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อปรับให้อัตราดอกเบี้ยกลับไปอยู่ในสภาวะปกติและไม่ให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯห่างกันมากเกินไป ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้านี้
ข่าวเด่น