เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC คาดส่งออกไทยไป EU โตต่อเนื่องหลัง Angela Merkel นั่งเก้าอี้นายกฯ เยอรมนีต่อ


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ผลการนับคะแนนในคืนวันเลือกตั้งที่ 24 ก.ย. (ตามเวลาเยอรมนี) เผยว่าพรรค Christian Democratic Union (CDU) และ Christian Social Union in Bavaria (CSU) ของ Angela Merkel มีคะแนนเสียงรวมกันเป็นอันดับ 1 ที่ 32.8% 


ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างพรรค Social Democratic Party (SPD) ของ Martin Schulz ผู้มีแนวคิดสนับสนุน EU เช่นเดียวกันกับ Angela Merkel ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 ที่ 20.4% โดยผลการเลือกตั้งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์และผลโพลก่อนการเลือกตั้ง อีกทั้งยังชี้ว่าชาวเยอรมนีจำนวนมากยังคงให้การสนับสนุน Angela Merkel ให้เป็นเสาหลักของเยอรมนีและ EU ต่อไป

ชัยชนะของ Angela Merkel ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นและส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีและพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดลงนับตั้งแต่การเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสในรอบสุดท้าย ทั้งนี้ ผลตอบรับจากตลาดการเงินภายหลังผลการเลือกตั้งไม่ผันผวนมากนักและตอบสนองในทางบวกเนื่องจากพรรคตัวเต็งสำคัญทั้งสองฝ่ายต่างมีแนวคิดสนับสนุน EU ทั้งสิ้น อีกทั้งคะแนนเสียงของพรรค AfD ซึ่งมีแนวคิดต่อต้าน EU ไม่ได้สูงเกินกว่าที่ผลโพลเบื้องต้นชี้ไว้มากนัก
          
สำหรับผลการเลือกตั้งเยอรมนีที่เป็นไปตามคาดช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2560 ชัยชนะของ Angela Merkel ตอกย้ำมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยเฉพาะการคลายความกังวลต่อกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซนอย่างเยอรมนี และการสานต่อนโยบายและการปฏิรูป EU ที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
ยูโรโซนในระยะยาว 
          
ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 1.9% ในปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.7% ในปี 2559 และจะสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยไปยูโรโซนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีสัดส่วนในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวถึง 12% ของส่งออกทั้งหมด นำโดย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ
          
สำหรับความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2560 คือการเลือกตั้งผู้นำในประเทศหลักทั้ง เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั้ง UK ท่ามกลางความนิยมของพรรคต่อต้าน EU ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ปะทุทั่วโลก 
          
อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งต่างออกมาว่าประชาชนส่วนมากยังเชื่อมั่นใน EU ซึ่งทำให้ฝ่ายสนับสนุน EU ในประเทศดังกล่าวยังคงได้รับตำแหน่งผู้นำต่อเนื่องไปอีก 4 ปี
          
"ระยะเวลา 4 ปีข้างหน้านับว่ามีความสำคัญต่อฝ่ายสนับสนุน EU เป็นอย่างมาก เนื่องจากหากผู้นำสามารถปฎิรูปให้ EU แข็งแกร่งขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นต่อสหภาพให้กลับมาได้อีกครั้งก็จะสร้างความมั่นคงให้กับสหภาพ ในทางกลับกัน หากการปฏิรูปไม่เป็นผลสำเร็จหรือมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีก เช่น ปัญหาผู้อพยพ หนี้เสียของภาคธนาคารในอิตาลี หรือวิกฤติหนี้กรีซ อาจทำให้คะแนนนิยมของพรรคต่อต้าน EU เพิ่มขึ้นอีกได้ รวมถึงอาจสร้างความแตกร้าวและเป็นจุดจบของการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันใน EU" SCB EIC ระบุ 
           
นอกเหนือจากการเจรจา Brexit ความเสี่ยงจากปัจจัยด้านการเมืองต่อเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงมีอยู่คือการเลือกตั้งผู้นำอิตาลีที่จะมีขึ้นก่อนเดือน พ.ค.61 โดยผลสำรวจ ณ เดือน ก.ย.60 ชี้ว่าพรรคที่ต้อต้าน EU อย่าง 5-Star Movement (M5S) กำลังมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 27.6% ขณะที่พรรค PD ของอดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi มีคะแนนเสียงลดลงอยู่ที่ 26.8% ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของอิตาลี โดยเฉพาะภาคธนาคาร ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรค M5S เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรค M5S สามารถครองเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมมีการผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ในระยะต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ย. 2560 เวลา : 18:46:45
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 1:37 am