การค้า-อุตสาหกรรม
แนะยกเครื่องพัฒนาโลจิสติกส์ ดันกล้วยไทยบุกตลาด ชี้ทิศทางออเดอร์ส่งออกยังสดใสในตลาดโลก


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลศึกษาโซ่อุปทานสินค้ากล้วยแบบเจาะทุกมิติ ระบุ โลจิสติกส์ด้านต้นทุนต่อยอดขายและระยะเวลาของกล้วยหอมใช้มากที่สุด ในขณะที่การใช้เวลาในห่วงโซ่ของกล้วยไข่น้อยกว่ากล้วยชนิดอื่นๆ เนื่องจากไม่มีการแปรรูป แต่ประสิทธิภาพด้านความน่าเชื่อถือ กล้วยหอมและกล้วยไข่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกัน คือ 93.62 และ 95.17 ในขณะที่กล้วยน้ำว้าความน่าเชื่อถืออยู่ที่ร้อยละ 86.87 

  

 

นายภูมิศักดิ์  ราศรี   ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าจากที่ สศก. ได้ดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคเกษตร ฉบับที่ 2 (ปี2560-2564) และศึกษาศักยภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเป้าหมาย  ในวันนี้ (25 กันยายน 2560) สศก. ได้จัดสัมมนาเรื่อง  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตร   โรงแรมรามาการ์เด้นส์  โดยการสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาด้านโซ่อุปทานสินค้ากล้วย ครอบคลุมในมิติสำคัญประกอบด้วย มิติด้านต้นทุน มิติด้านเวลา และมิติด้านความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเกณฑ์วัดผลการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจการเกษตร ตลอดโซ่อุปทานสินค้าเกษตร มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสินค้ากล้วย ได้แก่ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด กรมส่งเสริมสหกรณ์  กรมส่งเสริมการเกษตร สหกรณ์การเกษตรเข้าร่วม 

สำหรับประเทศไทยสามารถผลิตกล้วยได้ทั้งปี เป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกสร้างรายได้ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA : JapanThailand Economic Partnership Agreement)  ญี่ปุ่นได้ให้โควต้ากล้วยหอมทองจากไทยเข้าประเทศญี่ปุ่นปีละ 8,000 ตัน แต่ที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยส่งออกกล้วยหอมทองไปยังญี่ปุ่นได้เต็มโควต้า สามารถส่งออกได้เพียงปีละ 4,000 ตันเท่านั้น  ดังนั้น ไทยจึงยังมีโอกาสขยายมูลค่าการส่งออกกล้วยได้อีกมาก และสามารถส่งออกไปยังประเทศจีน เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น นอกจากกล้วยหอมแล้ว ยังมีกล้วยที่ได้รับความนิยมบริโภคอีกหลายชนิด เช่น กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า เป็นต้น 

 

 

สถานการณ์การผลิตและการตลาดกล้วยของไทยที่สำคัญทั้ง 3 ชนิด พบว่า กล้วยหอม มีศักยภาพในการส่งออกโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นที่มีความต้องการสูง โดยปี 2559 ไทยมีจำนวน เนื้อที่เก็บเกี่ยว 37,020 ไร่ ผลผลิต 117,427 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 3,172  กิโลกรัม ต้นทุนการผลิต 4,823 บาท/ตัน ราคาที่เกษตรกรขายได้ 12,777 บาท/ตัน ผลตอบแทนสุทธิ 7,954 บาท/ตัน  และมาตรฐานเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรกล้วย มกอช. 0006-2548 ทั้งนี้ มีจำนวนใช้ในประเทศ 113,703 ตัน ส่งออกกล้วยหอมสด ปริมาณ 3,725 ตัน มูลค่า 81.40 ล้านบาท ราคาส่งออก 21,855 บาท/ตัน คู่ค้าที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น จีน ลาว และคู่แข่งที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ เอกวาดอล์ เบลเยียม คอสตาริกา

 

 

กล้วยไข่ เนื้อที่ให้ผล ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 เนื่องจากมีการส่งออกกล้วยไข่ไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากขึ้นทุกปี จึงทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกในพื้นที่ว่าง ปลูกแซมสวนทุเรียน ยางพารา เนื้อที่ให้ผล 57,461 ไร่ ผลผลิต 129,658 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 2,256 กิโลกรัม ต้นทุนการผลิต 4,979 บาท/ตัน ราคาที่เกษตรกรขายได้ 13,044 บาท/ตัน ผลตอบแทนสุทธิ 8,065 บาท/ตัน ซึ่งปริมาณผลผลิตกล้วยไข่เฉลี่ยอยู่ที่ 804.28 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ค่าใช้จ่ายจากการทำสวนกล้วยไข่เฉลี่ย 2,216.67 บาทต่อไร่ต่อปี รายได้จากการทำสวนกล้วยไข่เฉลี่ย 5,190.72 บาทต่อไร่ต่อปี  ทั้งนี้ การส่งออกกล้วยไข่ ส่งออกไปตลาดจีนร้อยละ 60 ทั้งตลาดในมณฑลเสฉวน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซูและมณฑลอันฮุย มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน ตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง   

 

 

กล้วยน้ำว้า  ปี 2559 เนื้อที่เก็บเกี่ยวผลผลิตของไทยเท่ากับ 181,902.34 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 918,539.97 ตัน ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 5,049.63 กิโลกรัมต่อไร่ และราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 12.98 บาทต่อกิโลกรัม โดยกล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั่วไป จึงทำให้มีพื้นที่ปลูกกระจายอยู่ทั่วประเทศ ช่องทางการจำหน่ายมีทั้งผลสด และ  แปรรูปมีหลากหลายผลิตภัณฑ์มากกว่ากล้วยชนิดอื่น เช่น กล้วยตาก กล้วยเบรคแตก กล้วยฉาบรสชาติต่าง ผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้าสามารถส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 

ผลจากการศึกษาตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์สินค้ากล้วย (กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า) ในด้านต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขาย (ร้อยละ) กล้วยหอม 5.96  กล้วยไข่ 4.26 กล้วยน้ำว้า 1.96  ส่วนด้านตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านเวลา (วัน) พบว่า กล้วยหอมใช้เวลาด้านโลจิสติกส์ 15.63 วัน กล้วยไข่ 3.64 วัน กล้วยน้ำว้า 11.01 วัน 

จะเห็นว่า การใช้เวลาของกล้วยไข่น้อยกว่ากล้วยชนิดอื่น เนื่องจากกล้วยไข่ไม่มีการแปรรูป การใช้เวลาใน   ห่วงโซ่จึงน้อยกว่า และเมื่อวัดประสิทธิภาพด้านความน่าเชื่อถือ (ร้อยละ) กล้วยหอมและกล้วยไข่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 93.62 และ 95.17 ส่วนกล้วยน้ำว้ามีความน่าเชื่อถือร้อยละ 86.87

ตารางแสดงประสิทธิภาพด้านต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ

 

 

ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์

 

กล้วยหอม

 

กล้วยไข่

 

กล้วยน้ำว้า

ต้นทุนต่อยอดขาย (ร้อยละ)

5.96

4.26

1.96

เวลา (วัน)

15.83

3.64

11.01

ความน่าเชื่อถือ (ร้อยละ)

93.62

95.17

86.87

 ที่มา : จากการคำนวณของ ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ทั้งนี้ สศก. ได้เสนอแนวทางในการพัฒนาและการบริหารจัดการกล้วยตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในปัจจัยต่างๆ ได้แก่          การสนับสนุนและส่งเสริมการรวมกลุ่มผลิตเพื่อการส่งออกอย่างจริงจังและเป็นระบบตลอดโซ่อุปทานในลักษณะคลัสเตอร์ (Cluster) มีการบริหารจัดการคุณภาพให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของแต่ละตลาด  เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ 

ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกกล้วยโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (GAP) มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กล้วยให้มีคุณภาพดี มีระบบประกันราคาและประกันภัยสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์เพื่อให้กล้วยมีคุณภาพ  อบรมให้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการกล้วยคุณภาพ ให้แก่ เกษตรกรผู้ผลิต ผู้แปรรูปผู้รวบรวม และผู้ประกอบการเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เช่น การผลิตกล้วยอินทรีย์ลักษณะแปลงใหญ่ด้วยระบบทางไกลความแม่นยำสูง การแปรรูปกล้วยให้คงคุณค่าทางอาหารของกล้วยไว้ครบถ้วน และการบรรจุหีบห่อด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารหวาน  ลักษณะแยกเฉพาะแต่ละห่อ/กล่องพอรับประทานหมดในคราวเดียว รูปลักษณ์ทันสมัย  

 

ทั้งนี้ ควรเพิ่มความเข้มงวดในการอำนวยความสะดวกในการส่งออก ควบคุมตรวจสอบสารตกค้าง และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัย รวมทั้งปรับปรุงกรรมวิธี การตรวจสอบอย่างรวดเร็วให้เป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้า ตลอดจนส่งเสริมการค้าและประชาสัมพันธ์สินค้ากล้วยไทยในต่างประเทศมากขึ้น โดยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการตลาด เช่น นำกล้วยและผลิตภัณฑ์ไปจัดงานแสดงสินค้าร่วมกับสินค้าเกษตรชนิดอื่น  หรือมีเอกสารเผยแพร่วิธีบริโภค/สรรพคุณของกล้วย จัดงานแสดงเมนูอาหารต่าง ที่ทำจากกล้วยให้ชาวต่างชาติได้ทดลองชิม เป็นต้น


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ย. 2560 เวลา : 20:36:18
15-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 15, 2025, 11:13 pm