เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กนง. คงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจไทยเติบโตชัดเจนขึ้น พร้อมปรับคาดการณ์ทั้งปีโต 3.8%


Key point

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 27 กันยายน 2017

กนงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็ง ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นในหมวดบริการและสินค้าคงทน แต่กำลังซื้อยังไม่เข้มแข็งนักโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจ ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กนง. ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2017 จาก 3.5% มาอยู่ที่ 3.8% และปรับขึ้นคาดการณ์ปี2018 จาก 3.7% มาที่ 3.8%

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นช้ากว่าที่ กนง. ประเมินไว้เดิม จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้าลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมีต่อค่าจ้างแรงงานในระยะข้างหน้า โดย กนง.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 2017 อยู่ที่ 0.6% และ 0.6% ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 0.8% และ 0.6% ตามลำดับ

 

 

เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นบ้างจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งในภูมิภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กนง. มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นต้น

กนง. มองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ ผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

Implication : อีไอซีคาด กนง. คงดอกเบี้ยตลอดปี 2017

อีไอซีคาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2017 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวแบบไม่ทั่วถึง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นและการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงจากที่ประเมินไว้เดิม แต่เงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคส่งออกจะช่วยลดแรงกดดันในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้

ตารางสรุปคำแถลงการณ์ของ ธปทเทียบกับการประชุมครั้งก่อน

 

 


LastUpdate 27/09/2560 22:36:08 โดย : Admin
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 1:47 am