นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามในสัญญาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน หรือ โครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบ จำนวน 8 สัญญา วงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการหลังจากที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติโครงการ และให้เร่งดำเนินการจ้างบริการ เพื่อให้เปิดใช้งานได้ตามเป้าหมายภายในปีนี้ โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ จะสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30/10 Mbps ได้ในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน นอกจากนี้จะมี USO แพ็คเกจรุ่นเล็ก ความเร็ว 15 Mbps ราคาไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน และ USO แพ็คเกจรุ่นจิ๋ว ความเร็ว 10 Mbps ราคาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน เฉลี่ยไม่เกินเมกละ 10 บาท ให้บริการสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย และมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วต่ำกว่า 30 Mbps
อย่างไรก็ตาม ส่วนการให้บริการที่ไม่เสียค่าบริการเพื่อสาธารณะ ได้แก่ ไวไฟสาธารณะ 3,149 จุด เฉลี่ยหมู่บ้านละ 1 จุด อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในหน่วยงานภาครัฐทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวม 1,317 แห่ง รวมทั้งมีศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะ 763 ศูนย์ พร้อมผู้ดูแลประจำศูนย์อย่างน้อย 1 คน ซึ่งทั้งหมดจะให้บริการฟรีตลอดระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ กสทช. ยังได้วางเป้าหมายให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ต่ำกว่า 30 Mbps เปิดบริการไม่น้อยกว่า 588 หมู่บ้าน ภายในเดือนธันวาคม 2560 และอีก 2,352 หมู่บ้าน ภายในเดือนเมษายน 2561 ก่อนเปิดให้บริการครบ 100% ในเดือนสิงหาคม 2561
“การดำเนินโครงการเน็ตชายขอบครั้งนี้ สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 624.93 ล้านบาท จากราคากลางโครงการ จำนวน 13,614.62 ล้านบาท ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตราคาถูก และมีโอกาสเหมือนคนเมือง ถือเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักงาน กสทช. ในการดูแลผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นายฐากร กล่าว
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับการประมูลโครงการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล จำนวนราว 14,000 หมู่บ้าน ภายใต้วงเงิน 13,000 ล้านบาท คาดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะกำหนดราคากลางการประมูลมายัง กสทช. ในเดือนตุลาคมนี้ จึงคาดจะเริ่มดำเนินการเปิดประมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน ลงนามในสัญญาได้ในเดือนมกราคม 2561 และวางโครงข่ายแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2561 โดยในส่วนของราคาค่าบริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะอยู่ในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือนหรือไม่ เนื่องจากต้องมีการคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์ ในด้านความสนใจในการลงทุนของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งการที่อินเตอร์เน็ตชายขอบมีราคาค่าใช้บริการถูกเนื่องจากภาคเอกชนไม่มีแนวคิดไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยในพื้นดังกล่าวมีไม่มากนักด้วยเช่นกัน
“การที่ กสทช. ลงทุนโครงข่ายอินเตอร์เน็ตชายขอบ และอินเตอร์เน็ตในที่ห่างไกล 2 โครงการรวมกันจะมีมูลค่าสูงถึงราว 25,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ลงทุนอีกราว 15,000 ล้านบาท จะทำให้เป็นครั้งแรกประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สูงถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้จะมีความคุ้มค่าในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่”
ข่าวเด่น