น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 มาอยู่ที่ 3.7% จากเดิมคาด 3.4% โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก นำโดยการส่งออกที่ปรับคาดการณ์เป็นโต 7% จากเดิมที่คาด 3.8%
อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ขยายตัวดียังส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจในประเทศได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากภาพรวมการจ้างงานในภาคการผลิตลดลง หรือมีผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงค่าจ้างที่ยังอยู่ในภาวะทรงตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังโตแบบกระจุกตัวเฉพาะในกลุ่มสินค้าคงทน โดยผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นจากการปรับราคาสินค้า ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐจะช่วยประคองภาพการบริโภคเอกชนไปได้
น.ส.ณัฐพร กล่าวว่าใช่วงไตรมาสแรกของปี 60 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการส่งออก ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 ขยายตัวแข็งแกร่ง 3.7% โดยแรงหนุนจากภาคเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนไตรมาสที่ 3-4 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกที่เฉลี่ย 3.8% โดยแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐที่จะกลับมาเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
ด้านน.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยในปี นี้ว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณทำให้มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และไทย แม้ตลาดจะทยอยรับรู้ความเป็นไปได้ของการขึ้นดอกเบี้ยนี้ไปบ้างแล้วก็ตาม ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าจะยืนอยู่ที่ 1.50% ตามเดิม อย่างไรก็ตาม แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอาจขยับขึ้นตามทิศทางตลาดต่างประเทศ แต่ภาวะตลาดหุ้นกู้โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ
ส่วนในปีหน้า คาดว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง คือ ในช่วงครึ่งปีแรก 1 ครั่งและในครึ่งปีหลังอีก 1 ครั้ง ซึ่งคาดว่า กนง.จะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับเฟดในช่วงไตรมาสที่ 3และ4 สำหรับค่าเงินบาทในปีหน้าคาดว่า จะเฉลี่ยอยู่ที่ 33.80 บาท/ดอลลาร์ จาก 33.50 บาท/ดอลลาร์ในปีนี้
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการอัตราเติบโตของสินเชื่อของธนาคาพาณิชย์ไว้ที่ 4.0% ตามแรงส่งของสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม และยังต้องรอการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ เนื่องจากสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับการใช้จ่าย ส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอาจขยับขึ้นไปที่ 3.06% ในไตรมาส 3 และค่อยๆ ลดลงหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น
ข่าวเด่น