ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการ ในเดือนสิงหาคม 2560 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเป็น 91.8 เนื่องจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังคงมีความระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่าย ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ยังไม่สามารถวางใจได้
โดย นายชัยพร ชยานุรักษ์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ของเดือนสิงหาคม 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจาก 100.2 เดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ระดับ 91.8 เป็นผลจากปัจจัยด้านยอดจำหน่าย การจ้างงาน การลงทุนและกำไรที่ลดลง ทั้งในภาคการค้าและบริการ ในทุกสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการค้าส่งและค้าปลีกที่ปรับตัวลดลงมาก
เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังคงไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านยอดขายและกำไรลดลง อย่างไรก็ดีมีสาขาธุรกิจที่ปรับตัวลดลงแต่ยังคงมีความเชื่อมั่นสูงเกินค่าฐานที่ 100 ได้แก่ บริการร้านอาหาร/ภัตตาคาร
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 101.5 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากที่ระดับ 102.2 ในเดือนกรกฎาคม 2560 แสดงให้เห็นว่า แม้ความเชื่อมั่นจะปรับตัวลดลงแต่ผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในทิศทางอนาคตดีอยู่ ในเดือนสิงหาคมนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของ SME ในภาคการค้าและบริการปรับตัวลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (TISI) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งได้รับผลดีจากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.2560 อยู่ที่ 75.0 เพิ่มจาก 74.5 ในเดือนส.ค.2560 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 50.5 ลดจาก 51.6 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งสาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้น การลงทุนของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่มาก เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสัปปะรดโรงงาน เป็นต้น ทำให้กำลังซื้อไม่คล่องตัว และรู้สึกว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น
ทั้งนี้จากผลสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันที่ลดลง 5 เดือนติดต่อกัน เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะปัจจัยหลักมาจากราคาสินค้าเกษตร ที่เป็นรายได้หลักของเกษตรกรยังไม่ดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดไม่ดี ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดขายของไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องทำให้มีเงินหมุนเวียนลงไปยังส่วนภูมิภาคมากขึ้น เพื่อทดแทนราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ โดยต้องพยายามทำให้มีการจ้างงาน เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ ประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 เพราะคนเริ่มมั่นใจเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 เช่นเดียวกัน โดยทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.7-4.0% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ที่ 3.6% และสอดคล้องกับที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับเพิ่มขึ้น
สำหรับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจำนวน 11.37 ล้านคน คาดว่า จะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคประมาณเดือนละ 3-4 พันล้านบาท และค่าโดยสารเดือนละ 1-2 พันล้านบาท ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการบริโภค และการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับภาคการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยวที่เติบโต ทำให้คนมั่นใจในการบริโภคเพิ่มขึ้น
ข่าวเด่น