ตามที่คอลัมน์ "ทันประเด็น" โดย กะบังลม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2560 เรียกร้องให้กรมสรรพากรชี้แจงกรณีการยกเว้นภาษีจากการแก้ไขประกาศของกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) และ (ฉบับที่ 5) เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนใน 2 กรณี คือ
1. การยกเว้นภาษีทั้งหมดในการโอนที่ดินส่วนตัวเข้าบริษัทจากที่ต้องเสียภาษีร้อยละหกของมูลค่าที่ดิน มาเป็นการเก็บแค่ค่าธรรมเนียมการโอนแค่ร้อยละ 0.1 ภาษีของรัฐหายไปทันที 6 หมื่นล้านบาท
2. มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนในการให้นำเอาที่ดินมาตีมูลค่าทางการตลาดมาเป็นคำนวณต้นทุนค่าเสื่อมราคา ยิ่งทำให้รัฐสูญเสียเงินภาษีไปอีก 2 แสนล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินการดังกล่าวภาครัฐต้องสูญเสียภาษีรวมถึง 2.6 แสนล้านบาท นั้น
กรมสรรพากร ขอเรียนว่า
1. กรมสรรพากรได้ชี้แจง การออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) และ (ฉบับที่ 5) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ซึ่งออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร และสื่อสังคมออนไลน์ ตามเลขที่ข่าว ปชส. 3/2561 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีนโยบายส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาเปลี่ยนรูปแบบในการประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล อันเป็นการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการเสียภาษี โดยได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) กำหนดให้ราคาของทรัพย์สินที่โอนประเภทที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต้องโอนด้วยราคาประเมินทุนทรัพย์หรือราคาต้นทุนการซื้อ แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า จากเดิมที่กำหนดให้ทรัพย์สิน ทุกประเภทให้โอนด้วยราคาตลาด
2. เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐและลดภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนรูปแบบเป็น นิติบุคคล กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ลดค่าธรรมเนียมในการโอนจากร้อยละ 2 ของราคาประเมิน ลงเหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมิน ทั้งนี้ การออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) เป็นการกำหนดราคาโอนที่ดินที่ใช้เป็นทุนของนิติบุคคลที่ตนตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งประกาศดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียมการโอนของกระทรวงมหาดไทย จึงมิได้ส่งผลกระทบต่อผลการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการโอนของกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด
3. การอ้างว่า การกำหนดให้ตีมูลค่าที่ดินตามราคาตลาด ทำให้สามารถคำนวณต้นทุนค่าเสื่อมราคาได้มากและจะทำให้รัฐสูญเสียเงินภาษีนั้น ขอเรียนว่าทรัพย์สินประเภทที่ดิน ไม่มีการคำนวณค่าเสื่อมราคา และไม่สามารถนำค่าเสื่อมราคามาใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ดังนั้น การกำหนดให้ทรัพย์สินประเภทที่ดินต้องโอนด้วยราคาประเมินทุนทรัพย์หรือราคาต้นทุนการซื้อ แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่าตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาษีสูญเสียกรณีการคำนวณค่าเสื่อมราคาที่ดิน
4. การดำเนินการแก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว มิได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ กลุ่มทุนใด แต่เพื่อทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายมีความชัดเจน ลดข้อโต้แย้ง เป็นการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล อันเป็นการแสดงผลการประกอบการที่แท้จริงในการประกอบกิจการ รวมทั้งสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการเสียภาษีอีกด้วย
ข่าวเด่น