โดยดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2560 ว่า ครัวเรือนปัจจุบันกว่า 91.1% ยังคงมีหนี้สิน มีเพียง 8.9% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน โดยครัวเรือนที่ยังมีหนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป รองลงมาเป็นหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ และบ้าน รวมถึงชำระหนี้เก่า
โดยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนรวมในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 299,266 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี และเป็นหนี้ในระบบ 74.6% เป็นหนี้นอกระบบประมาณ 26.4% ซึ่งสัดส่วนผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบลดลงมากสุดในรอบ 10 ปี และคาดว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าผู้เป็นหนี้นอกระบบจะลดลง จากมาตรการในการกำกับดูแลหนี้นอกระบบของภาครัฐ และประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนการจับจ่ายใช้สอยในปีนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ตอบว่าจะใช้จ่ายน้อยลง ทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากเห็นว่าค่าครองชีพในปัจจุบันสูงกว่ารายได้ จึงต้องการประหยัด ซื้อเฉพาะของจำเป็น นอกจากนี้บางส่วนใช้จ่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง บางส่วนมีภาระหนี้มากขึ้น มีรายได้น้อยลงและข้าวของราคาแพงขึ้น ขณะที่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ผู้ที่ถือบัตรเห็นว่า สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน เพิ่มสภาพคล่องในครอบครัว ทำให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก และมีความพึงพอใจกับนโยบายดังกล่าว
สำหรับวัตถุประสงค์ของการกู้เงินของผู้ตอบแบบสอบถาม 5 อันดับแรก คือ เป็นหนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป, เพื่อชำระหนี้เก่า, เพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ , หนี้ซื้อบ้าน และหนี้เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาชำระหนี้สูงสุด 5 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา คือ ความไม่แน่นอนในงานที่ทำ, ค่าใช้จ่ายประจำวันสูงขึ้น, ไม่มีแหล่งให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติม และรายได้ลดลง
ส่วนข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน ได้แก่ แก้ไขปัญหาในเรื่องลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำมัน, ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล, แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการลดอัตราเงินกู้, มีการส่งเสริมรายได้ให้แก่ประชาชน และจัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ รวมทั้งแก้ปัญหาการว่างงาน
ข่าวเด่น