หุ้นทอง
65 บจ. หุ้นยั่งยืน ประจำปี 2560


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อ 65 บจ. Thailand Sustainability Investment: THSI หรือ หุ้นยั่งยืน ประจำปี 2560 เพิ่มขึ้น 14 บริษัท จากปี 2559 ที่มีจำนวน 51 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่า บจ. ตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารภายใต้หลักบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

 
ดร. กฤษฎา  เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้เติบโตอย่างยั่งยืนโดยจัดทำรายชื่อ Thailand Sustainability Investment: THSI หรือหุ้นยั่งยืน ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนตามแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืนและต้องการลงทุนในหุ้นที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ บจ. มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ในปี 2560 นี้มี 65 บจ. ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนและเกณฑ์คุณสมบัติ เพิ่มขึ้น 14 บริษัท จาก 51 บริษัทในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็น บจ. ใน SET 58 บริษัท และ mai 7 บริษัท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) รวม 9.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 52.85% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai ซึ่งเท่ากับ 17.22 ล้านล้านบาท หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยของหุ้นยั่งยืนนี้อยู่ที่ 3.63% สูงกว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรวมซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.44% (ณ 10 ตุลาคม 2560)  
  
บริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนเป็นบริษัทที่มีกระบวนการจัดการและบริหารความเสี่ยงและห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจและสังคมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร  ซึ่งในปี 2560 หุ้นยั่งยืนมีจำนวนสูงสุดอยู่ในกลุ่มทรัพยากร 13 บริษัท อุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม 12 บริษัท และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 8 บริษัท ตามลำดับ สำหรับผลการประเมินความยั่งยืนของ 65 บจ. พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ทำคะแนนได้ดีในมิติสิ่งแวดล้อมโดยโดดเด่นในเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ให้ได้รับผลกระทบจากธุรกิจน้อยที่สุด สำหรับในมิติเศรษฐกิจ บริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องจรรยาบรรณธุรกิจและการต่อต้านการทุจริต รวมถึงบรรษัทภิบาล และการบริหารความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ ในขณะที่มิติสังคม บริษัทส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องการดูแลสุขภาวะและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงาน และการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทและการร่วมพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการทางธุรกิจ
 
ในการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน ปี 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯ คัดเลือกจาก 90 บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่ประกอบด้วยคำถามจาก 19 หมวด 42 ข้อคำถามหลัก 182 ข้อคำถามย่อย ครอบคลุมในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงบรรษัทภิบาล ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ทบทวนคำถามในแบบประเมินทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างความยั่งยืนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล โดยในปีนี้มีการเพิ่มคำถามที่เป็นสาระสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ การประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (emerging risk) การระบุประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของธุรกิจ (materiality) และการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
บจ. ที่ผ่านการคัดเลือกในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต้องมีคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือเป็น บจ. ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI รวมทั้งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น การกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของ บจ. และการไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เป็นต้น โดยมีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และหน่วยงานในตลาดทุน เป็นผู้กลั่นกรองให้กระบวนการคัดเลือกมีความโปร่งใสและเชื่อถือได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ต.ค. 2560 เวลา : 13:40:35
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 5:26 pm