สศก. ระบุ แนวทางการรับมือแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะช่วงผลผลิตออกตามฤดูกาลพร้อมกัน ต้องเน้นตลาดนำการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมตลาดออนไลน์ แจง กระทรวงเกษตรฯ พร้อมวางแนวทางช่วยเกษตรกรรอบด้าน เน้นลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการบริหารจัดการในสินค้าสำคัญเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในปัจจุบัน เป็นผลมาจากอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าเกษตรมีน้อยกว่าอุปทานหรือปริมาณผลผลิตในแต่ละฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันมากที่สุด (Peak) และราคาสินค้าเกษตรยังขึ้นอยู่กับกลไกตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบางสินค้ายังพึ่งพาตลาดส่งออกหลักเพียงตลาดเดียว อีกทั้งยังขึ้นกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ เช่น ยางพารา เป็นต้น
รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ตลาดนำการผลิตหรือผลิตตามตลาดต้องการ รวมทั้งแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมระบบตลาดออนไลน์ ในขณะที่ต้นทุนขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายของปัจจัยการผลิตที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนกิจกรรมการผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทางเน้นให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งได้มีคณะกรรมการกำกับดูแลแต่ละสินค้าเป็นการเฉพาะเพื่อบริหารจัดการ และได้มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สินค้าที่สำคัญ ดังนี้
ยางพารา มีการบริหารจัดการทั้งด้านดีมานด์ และซัพพลาย โดยในด้านดีมานด์ (ความต้องการ) มีการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศเพื่อลดผลผลิตที่จะเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีปริมาณความต้องการใช้ในปี 2560 (น้ำยางข้น 12,108 ตัน และยางแห้ง 1,499 ตัน) รวมทั้งรณรงค์ให้ใช้ผลผลิตภัณฑ์ยางและส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง สำหรับด้าน ซัพพลายด์ (ผลผลิต) มีการจัดการพื้นที่ปลูกยาง มีเป้าหมายลดพื้นที่ปลูกยางจำนวน 400,000 ไร่ต่อปี โดยลดพื้นที่ปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี 200,000 ไร่ และปลูกแทนด้วยพืชเศรษฐกิจอื่น 200,000 ไร่ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรเป้าหมาย 22,590 ราย และบริการการซื้อขายยางโดยจัดตั้งตลาดกลางยางพารา เป้าหมายปริมาณซื้อขายยางผ่านตลาดกว่า 1 ล้านตัน
ปาล์มน้ำมัน รัฐบาลได้หาแนวทางในการสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกได้มากขึ้นในการลดปัญหา สต็อก เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกตลาดมากขึ้นในช่วงปลายปี โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ได้ส่งออกแล้ว 52,629 ตัน และคาดว่าส่งออกทั้งปีจะได้มากกว่า 100,000 ตัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้ขยับตัวสูงขึ้น เฉลี่ยปี 2560 กิโลกรัมละ 4.20 บาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิต
มันสำปะหลัง ครม. มีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 อนุมัติในหลักการแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลังปี 2560/61 จำนวน 14 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ภาคการเกษตร ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต และแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงมีการดูแลด้านการตลาด
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแนวทางบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และได้ประสานให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยรับซื้อจากเกษตรกรไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.00 บาท ที่ความชื้น 14.5% (ราคา ณ กรุงเทพฯและปริมณฑล) รวมทั้ง ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 อนุมัติการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 เป้าหมาย 31 จังหวัด พื้นที่ 0.7 ล้านไร่ เกษตรกร 47,000 ราย เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และกระจายผลผลิตให้ออกสู่ตลาดสม่ำเสมอไม่กระจุกตัว
ข่าวเด่น