เอสเอ็มอี
SME มีสัญญาณเริ่มฟื้นจากจุดต่ำสุด


เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น  สะท้อนจากการปรับประมาณการณ์ของหน่วยงานต่างๆ    ได้ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการSMEs   โดยนางเสาวณีย์  ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย   เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ของ SMEs ไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560  ซึ่งพบว่า  กิจการ SMEs ไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 68.8 ได้ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว     และมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 4 ดัชนีคาดการณ์จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 41.2


ขณะที่ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจของไตรมาสที่ 3 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 50.3 จาก 50.5 ในไตรมาสก่อน เนื่องจาก SMEs เห็นว่าต้นทุนในการประกอบการยังทรงตัวในระดับสูง และยอดขายที่ยังเพิ่มไม่สูงนัก ทำให้กำไรของธุรกิจยังคงทรงตัว โดยคาดว่าความสามารถในการทำธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ระดับ 50.4     ส่วนดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs อยู่ที่ระดับ 47.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 47.9  แต่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ สะท้อนว่า SMEs เชื่อว่าธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน สำหรับไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นระดับ 47.8 โดย SME ไทยจะต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในอนาคต

 


 

นายธนวรรธน์  พลวิชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจหรือ GDP ของ SMEs ไทยปี 2560 จะมีการขยายตัวร้อยละ 4.5  โดยธุรกิจขนาดย่อมจะขยายตัวร้อยละ 4.4 ขนาดกลางขยายตัวร้อยละ 4.9 และขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 5.1 เป็นการขยายตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ที่ผ่านมาที่คาดว่า SMEs จะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.2  เป็นการปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่จะขยายตัวร้อยละ 3.9 ตามที่ศูนย์ฯได้คาดการณ์ และการส่งออกเติบโตที่ร้อยละ 7.5 ขณะที่การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ SMEs ไทยในปี 2561 ถึง 2564 คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดย GDP SMEs จะปรับตัวจากร้อยละ 4.4 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 5.4 ในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่จะขยายตัวเกินร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2564 สะท้อนให้เห็นถึง SMEs ไทยจะมีภาวะทางธุรกิจที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต


ทางด้านบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์  จำกัด ระบุว่า  เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางบวกเพิ่มขึ้น  สำหรับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ในสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ของธนาคารพาณิชย์ไทย  


ซึ่งสินเชื่อธุรกิจกลุ่มลูกค้า SME  (ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 39% ของสินเชื่อรวมของภาคธนาคารพาณิชย์) เป็นปัจจัย   ที่ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของคุณภาพสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME หรือการที่คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะทรงตัว น่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อคุณภาพสินทรัพย์โดยรวม ซึ่งจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวลดลงและช่วยให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคธนาคารพาณิชย์กลับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น   


อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่ชัดเจน  ดังนั้นจึงยังคงมีความเสี่ยงต่อเนื่อง  พราะความล่าช้าของการฟื้นตัวและการชะลอตัวของเศษฐกิจที่รุนแรงและต่อเนื่อง สามารถส่งผลให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์รอบใหม่เกิดขึ้นได้   เนื่องจากภาคธุรกิจ SME ส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อภาวะธุรกิจที่ชะลอตัว  อีกทั้งยังมีฐานะและความยืดหยุ่นทางการเงินที่อ่อนแอกว่าเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ต.ค. 2560 เวลา : 12:21:22
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 6:45 pm