Event
ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคมชี้ว่านายชินโซ อาเบะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่นต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3ตามความคาดหมาย โดยพรรค Liberal Democratic Party (LDP)ของอาเบะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ที่ 61% และกวาดที่นั่งในสภาไป 283 ที่นั่ง ส่วนพรรคร่วมอย่าง Komeito ได้ไป 29 ที่นั่ง ทำให้อาเบะสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมด้วยจำนวนเสียงเกิน 2 ใน 3ของสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) เตรียมเดินหน้าผลักดันนโยบายได้อย่างราบรื่น โดยการประชุมสภานัดพิเศษเพื่อลงคะแนนเสียงให้อาเบะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันพุธที่ 1พฤศจิกายนนี้
แม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง แต่พรรคความหวังใหม่ (Kibou no Tou) นำทีมโดยนักการเมืองหญิงมาแรงแห่งยุค โคอิเคะ ยูริโกะ ก็เป็นที่จับตามองและคงเป็นคู่แข่งทางการเมืองต่อพรรค LDP ของอาเบะต่อไป ปัจจุบัน โคอิเคะดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียว และได้รับคะแนนเสียงล้นหลามแซงหน้าพรรคใหญ่อย่าง LDP ในการเลือกตั้งสภากรุงโตเกียวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
Analysis
ผลการเลือกตั้งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของชาวญี่ปุ่นต่อนายกฯ อาเบะ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี และประเด็นสังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ แม้โพลก่อนการเลือกตั้งจะชี้ว่าคนส่วนมากไม่พึงพอใจกับรัฐบาลของอาเบะ แต่ผลการเลือกตั้งก็สะท้อนว่าเขายังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการพาญี่ปุ่นก้าวไปข้างหน้า ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้อาเบะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตามวาระแล้ว อาเบะจะอยู่ในอำนาจไปจนถึงปี 2021
4 นโยบายหลักที่รัฐบาลอาเบะประกาศเดินหน้า ได้แก่
1. การปรับขึ้นภาษีการบริโภค (consumption tax) จาก 8%เป็น 10% ในเดือนตุลาคม ปี 2019 โดยครึ่งหนึ่งของรายได้จากการเก็บภาษีจะนำไปใช้สนับสนุนด้านการศึกษา และสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะการดูแลบุตร ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะใช้เพื่อชำระหนี้ของรัฐบาล
2.การเร่งจัดการหนี้รัฐบาล และตั้งเป้างบประมาณเกินดุลระดับหนี้สาธารณะที่มีอยู่สูงเป็นความท้าทายที่สร้างแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของภาครัฐญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2016 ระดับหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นมีสัดส่วนคิดเป็น 239%ของ GDP รัฐบาลอาเบะเคยตั้งเป้าปฏิรูปการเก็บภาษีเพื่อพลิกงบประมาณให้กลับมาเกินดุลภายในปีงบประมาณ2020 แต่เลื่อนออกไป และยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายเวลาใหม่
3. การยกระดับศักยภาพทางการทหารของประเทศ เพื่อเตรียมรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ปี 2017 เป็นปีที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธมากที่สุด คือมากกว่า 10ครั้ง โดยยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ตกลงทะเลญี่ปุ่นถึง 2ครั้งในเดือนกรกฎาคมและกันยายน ทำให้รัฐบาลอาเบะต้องการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังสงครามโลกครั้งที่2 มาตรา 9 ซึ่งกีดกันไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพเป็นของตัวเอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถเพิ่มบทบาทกองกำลังป้องกันตนเองเป็นกองทัพได้
4. สนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงานสำหรับใช้ในประเทศ การสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นผลดีต่อดุลการค้าของญี่ปุ่น ซึ่งมีการนำเข้าพลังงานสูง หลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะได้รับความเสียหายในปี 2011
Implication
Abenomics ได้ไปต่อ เมื่อนายกฯ อาเบะเตรียมดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 4 ปี แรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อนโยบายเศรษฐกิจAbenomics ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลอาเบะ จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงเศรษฐกิจประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว หมายความว่าญี่ปุ่นจะยังคงมีทิศทางนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และส่งเสริมการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกไทย ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% ของการส่งออกทั้งหมดในช่วงแปดเดือนแรกของปี2017 โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเติบโตสูงคือโทรศัพท์และส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีผู้บริโภคอาจส่งผลลบต่อภาคการบริโภคที่กำลังฟื้นตัว การปรับขึ้นภาษีการบริโภคในปี 2019 จาก 8% เป็น10% อาจทำให้การบริโภคภาคเอกชนซบเซา และส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากการบริโภคภาคครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของ GDP ญี่ปุ่น จากตัวอย่างที่ผ่านมา การปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคในเดือนเมษายน ปี 2014 จาก 5% เป็น 8%ฉุดให้การบริโภคตกต่ำอย่างรุนแรง โดยตัวเลขการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนกลายเป็นติดลบ เช่นเดียวกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งลดลงจาก 2% ในปี 2013 เหลือ 0.34% เมื่อสิ้นปี2014 การบริโภคที่ซบเซาลงอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นในไทย รวมถึงชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยในไทยแบบระยะยาว (long stay) ลดจำนวนลง อย่างไรก็ดี รัฐบาลอาจพิจารณาเลื่อนเวลาการขึ้นภาษีผู้บริโภคออกไปอีกครั้ง หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้ฟื้นตัวดีตามคาด จับตาทิศทางค่าเงินเยน และการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่ แทนที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนเมษายน ปี 2018 โดยอีไอซีคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เพื่อผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ทิศทางนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของญี่ปุ่นนั้นสวนทางกับกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการลดงบดุล ทำให้เงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนมีโอกาสผันผวนได้สูงเพราะถูกมองว่าเป็นสกุลเงินปลอดภัย (safe haven) ของนักลงทุน ดังนั้น สถานการณ์ความไม่มั่นคงบนเวทีโลก เช่น ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงเกมการเมืองในยุโรป จึงอาจส่งผลให้เงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
ข่าวเด่น