นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือน ต.ค.60 ว่า ดัชนีคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนในทุกภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและการลงทุนภายในแต่ละภูมิภาค เป็นสำคัญ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 93.5 จากดัชนีแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคบริการ ซึ่งอยู่ที่ 98.6 โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่พบว่าหลายจังหวัดเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และด้านสาขาค้าปลีกค้าส่ง ที่พบว่าประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น จากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการลงทุนภายในภูมิภาค ส่งสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มการลงทุนอยู่ในระดับสูงที่ 95.2
สำหรับดัชนีฯ ภาคกลาง อยู่ที่ 87.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากด้านการท่องเที่ยวในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากหลายจังหวัดในภูมิภาคจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับผลของนโยบายการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคบริการของภูมิภาค ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 97.7 ประกอบกับด้านการลงทุนมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีแนวโน้มการลงทุน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 98.6 ตามจำนวนที่เพิ่มขึ้นของปริมาณการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
เช่นเดียวกับแนวโน้มของการผลิตภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ รวมถึงการจ้างงานภายในภาคเหนือ ยังคงส่งสัญญาณที่ดี ส่งผลให้ดัชนีฯ ภาคเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 81.3
ขณะที่ดัชนีฯ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ 79.2 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตร ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 92.2 โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวและค้าปลีกค้าส่งที่มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศที่มีดีตามลำดับ รวมถึงสถานการณ์การลงทุนภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนมีแผนขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร
ส่วนดัชนีฯ ภาคตะวันออก อยู่ที่ 78.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามแนวโน้มที่ดีของภาคบริการ นำโดยการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยจำนวนของนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคเกษตร ตามสภาพภูมิกาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก
สำหรับดัชนีฯ ภาคตะวันตก อยู่ที่ 77.6 ตามแรงสนับสนุนจากแนวโน้มของภาคบริการ ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีที่ 97.6 จากจำนวนกิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ประกอบกับแนวโน้มที่ดีของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนหลักของภูมิภาค
นอกจากนี้ ดัชนีฯ ภาคใต้ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 67.2 จากแนวโน้มในภาคบริการ ส่งสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 88.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการท่องเที่ยวและการเริ่มใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีรายได้น้อย
ข่าวเด่น