เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ความเชื่อมั่น SME ไตรมาส 3 ทรงตัว คาดเทศกาลปลายปีและภาพรวมเศรษฐกิจดีปีหน้า หนุนจ้างงาน ดันรายได้ SME ฟื้น


ทีเอ็มบี เผยดัชนีเชื่อมั่น SME ไตรมาส 3 ทรงตัว จากกำลังซื้อประชาชนภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ หวังอานิสงส์เทศกาลปลายปี ภาคส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวต่อปีหน้า เร่งการจ้างงานฟื้น ดันกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศโต ส่งให้รายได้ SME ฟื้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 3/2560 จากความเห็นของผู้ประกอบการ SME 1,225 รายทั่วประเทศ สำรวจโดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบันของผู้ประกอบการอยู่ที่ระดับ 37.3 ลดลงจากระดับ 39.6 ในไตรมาสก่อน ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.4 สูงกว่าไตรมาสก่อนที่ 48.8 สะท้อนมุมมองต่อการดำเนินธุรกิจที่มีแนวโน้มคึกคักมากขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปี 2560 ประเมินปัจจัยส่งผลต่อแนวโน้ม SME ปีหน้า ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตร การฟื้นตัวของส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศ 

 

 

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่ามุมมอง SME ต่อแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3 ยังชะลอตัวเพราะเป็นช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวทำให้การจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการลดลง นอกจากนั้นการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐซึ่งเดิมเคยสูงสุดในไตรมาส 3 ก่อนสิ้นปีงบประมาณ กลับชะลอลงในปีนี้ ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านรายได้ SME มีทิศทางลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนความเชื่อมั่นด้านต้นทุนในไตรมาสนี้ยังทรงตัวต่อเนื่อง ส่งให้ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME มีทิศทางลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ยอดขายของ SME ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของประชาชนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรที่ในภาพรวมยังทรงตัว ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่กำลังซื้อนอกภาคเกษตร (แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ค้าปลีก/ส่ง และบริการ) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี กำลังซื้อของประชาชนทั้งสองกลุ่มส่งผลให้กำลังซื้อรวมเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ความเชื่อมั่นด้านรายได้ของ SME ในไตรมาส 3 จึงยังเป็นขาลง ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานและราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของผู้ประกอบการ SME  ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามค่าจ้างขั้นต่ำและแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านต้นทุน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

 

 

สำหรับมุมมองผู้ประกอบการ SME ต่อภาวะธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งตรงกับไตรมาสที่ 4 ผู้ประกอบการมองผลประกอบการสิ้นปีดีขึ้น เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลปลายปีซึ่งเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค และช่วยเร่งยอดขายภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นฤดูกาลการท่องเที่ยวที่ภาพรวมของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยยังมีแนวโน้มสดใส ช่วยหนุนกำลังซื้อ และรายได้ของผู้ประกอบการ SME ช่วงปลายปีให้มีความคึกคักต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้า

เราคาดว่าการส่งออกที่ยังขยายตัวดี และเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีหน้าจะช่วยหนุนกำลังซื้อในประเทศให้ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ SME ในส่วนราคาสินค้าเกษตรยังเป็นส่วนที่จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดนายเบญจรงค์สรุป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 พ.ย. 2560 เวลา : 16:27:41
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 5:50 am