หากพูดถึงแบรนด์ไอศกรีมที่สร้างสีสันให้กับตลาดไอศกรีมได้อย่างคึกคักในปีที่ผ่านมาคงจะหนีไม่พ้นแบรนด์กูลิโกะ เนื่องจากสินค้าได้ผลการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยได้เป็นอย่างดี จนทำให้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า แม้ว่าจะไม่ได้มีการทำกิจกรรมการตลาดอย่างจริงจังมากนัก ซึ่งจากผลการตอบรับที่ดีดังกล่าวทำให้ กูลิโกะ ต้องหันมาปรับกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ เริ่มจากการขยายกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก กูลิโกะ ไม่มีโรงงานผลิตไอศกรีมในประเทศไทย ทำให้ต้องจ้างโรงงานผลิตไอศกรีมมืออาชีพอย่างบริษัท จอมธนา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไอศกรีมครีโม เป็นผู้ผลิตไอศกรีมให้ ซึ่งครั้งนี้ กูลิโกะ ทุ่มสุดตัวด้วยการสั่งให้บริษัท จอมธนา ผลิตไอศกรีม เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้บริษัท จอมธนา เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้อีกด้วย เนื่องจากบริษัท จอมธนา มีธุรกิจโลจิสติกส์
นายคิโยทะคะ ชิมะโมริ กรรมการผู้จัดการบริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจไอศกรีมกูลิโกะ กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มนำไอศกรีมกูลิโกะ เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าได้ผลการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยดีเกินคาด เนื่องจากในช่วงแรกของการนำสินค้าเข้ามาทำตลาดสินค้าไม่พอขาย แต่หลังจากจำหน่ายสินค้าไประยะหนึ่งความต้องการของผู้บริโภคเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากบริษัทมีการเพิ่มกำลังการผลิตไอศกรีมกูลิโกะเพิ่มขึ้น
นอกจากจะให้ความสำคัญในส่วนของการเพิ่มกำลังการผลิตไอศกรีม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าแล้ว กูลิโกะ ยังจะให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางจำหน่ายอีกด้วย จากเดิมจะเน้นการจำหน่ายสินค้าเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นหลัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้สินค้าครอบคลุมความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และหนึ่งในช่องทางสำคัญที่จะเข้าไปรุกทำตลาดมากขึ้น คือ การนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าทั่วไปในตลาดต่างจังหวัด รวมไปถึงร้านอาหารต่างๆ
นายคิโยทะคะ กล่าวต่อว่า ในปีแรกของการทำตลาดไอศกรีมกูลิโกะ บริษัทเน้นทำการตลาดเพียงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น จึงทำให้ส่วนแบ่งการตลาดที่ได้รับมีเพียงแค่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 7% ดังนั้น จึงไม่น่าจะแฟร์กับบริษัทหากจะให้นำส่วนแบ่งการตลาดยอดขายของแบรนด์อื่นที่ขายทั้งประเทศมาเปรียบเทียบกัน
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้แผนการทำตลาดนับจากนี้ไป กูลิโกะ พยายามอุดช่องว่างทางการตลาดให้เหลือน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขยายโอกาสในการขยายฐานลูกค้าในตลาดต่างจังหวัด หรือการเพิ่มโอกาสทางการขายด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาแล้วนั่น ก็คือ การนำตู้หยอดเหรียญกดไอศกรีมอัตโนมัติมาเปิดให้บริการควบคู่ไปกับการขยายตู้ขายไอศกรีมของกูลิโกะ ที่จะกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของตู้หยอดเหรียญกดไอศกรีมอัตโนมัตินั้น กูลิโกะ มีแผนที่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร 4 จุดด้วยกัน คือ ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ บริเวณทางเชื่อมบีทีเอสสยาม และ ชั้น G หน้าอิเกีย ศูนย์การค้าเมกา บางนา ซึ่งทั้ง 2 จุดจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือน พ.ย.นี้ หลังจากนั้นเดือน ธ.ค.จะย้ายไปที่ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และชั้น 6 โซนพลาซ่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งในส่วนของตู้ดังกล่าวจะอยู่ที่ประเทศไทยเพียง 2 เดือนเท่านั้น เพื่อทดลองผลการตอบรับของลูกค้า
นายคิโยทะคะ กล่าวอีกว่า การนำเข้าตู้หยอดเหรียญกดไอศกรีมอัตโนมัติ จากประเทศญี่ปุ่นมาให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ทดลองซื้อไอศกรีมจากตู้อัตโนมัติในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบสนองกระแสเรียกร้องจากผู้บริโภคชาวไทยที่ต้องการจะเป็นลูกค้าไอศกรีมกูลิโกะ ซึ่งการนำตู้หยอดเหรียญกดไอศกรีมอัตโนมัติเข้ามาให้บริการในประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นประเทศแรกที่ทางบริษัท เอซากิ กูลิโกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดส่งตู้หยอดเหรียญกดไอศกรีมอัตโนมัติ มาทำการตลาดนอกประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ กูลิโกะ ยังได้มีการเปิดตัวไอศกรีมรสชาติใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมจำนวน 3 รสชาติ คือ 1. ไจแอนท์ โคน คราวน์ (รสริช ช็อกโก แอนด์ ครัช อัลมอนด์ ไอซ์) ที่มาพร้อมจุดเด่นด้วยการเป็นไอศกรีมช็อกโกแลตทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไอศกรีมเบลเยี่ยมช็อกโกแลตเข้มข้น อัดแน่นมาใน โคนช็อกโกแลตสูตรพิเศษ ท้อปด้วยดาร์กช็อกโกแลตดิสก์ ปิดท้ายด้วยช็อกโกแลตชิ้นหนาที่ปลายโคน เสิร์ฟพร้อมถั่วอัลมอนด์พราลีนเคลือบเนยคาราเมลจากประเทศสหรัฐอเมริกา
2. เซเว่นทีนไอซ์ คราวน์ (รสดับเบิล ช็อกโกล่า คาราเมล ไอซ์) ไอศกรีมแท่งรูปแบบใหม่สุดเทรนดี้ที่มาในรสเบลเยี่ยมช็อกโกแลต ผสมคาราเมล-ดาร์กช็อกโกแลตชิพ ที่รสชาติโดดเด่นไม่เหมือนใคร และ 3. พาแนปป์ (รสทริปเปิลช็อกโกแลตซันเด) ไอศกรีมถ้วยที่มาพร้อมกับจุดเด่นกับการเป็นช็อกโกแลตซันเดย์ที่มีเลเยอร์ 3 ชั้นจากเนื้อไอศกรีมช็อกโกแลตตัดกับเกลียวดาร์กช็อกโกแลตกรุบกรอบ ผสานด้วยซอสช็อกโกแลตเข้มข้น
หลังจากออกมาทำการตลาดมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ กูลิโกะ มั่นใจว่าสิ้นปี 2561 จะมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 7% และในอีก 5 ปีจะมีส่วนแบ่งการตลาดไอศกรีมเป็นอันดับ 3 จากปัจจุบันตลาดไอศกรีมในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดการณ์กับภาพรวมตลาดไอศกรีมน่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 5-10%
การออกมารุกทำตลาดอย่างหนักของแบรนด์ กูลิโกะ ในครั้งนี้น่าจะทำให้ตลาดไอศกรีมของไทยมีความคึกคักมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะผู้เล่นรายเดิมที่อยู่ในตลาดคงไม่ปล่อยให้ กูลิโกะ ชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไปได้ง่ายๆอย่างแน่นอนโดยเฉพาะผู้เล่นเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ในตลาด
ข่าวเด่น