ในที่สุดรัฐบาลก็ไฟเขียวมาตรการช้อปช่วยชาติติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ท่ามกลางเสียงที่สนับสนุนและคัดค้าน การดำเนินมาตรการดังกล่าว
โดย นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 60 หรือช้อปช่วยชาติ โดยให้สิทธิสำหรับคนที่จับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการ ในช่วงระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค.60 สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งการจัดทำมาตรการครั้งนี้ แม้ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่จะมีผลดีกับการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในช่วงปลายปี ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชน และยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนภาษีอย่างถูกต้องมากขึ้น
สำหรับสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น ต้องเป็นสินค้าของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต อย่างถูกต้อง แต่สินค้านั้นจะไม่เป็นการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ขณะที่บริการนั้น ไม่รวมถึงการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ การจ่ายค่าที่พักในโรงแรมให้กับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม เพราะการช่วยเหลือด้านดังกล่าว อาจจัดทำเป็นมาตรการออกมารองรับเป็นการเฉพาะต่อไปในเร็วๆ นี้
ซึ่งนางแพตริเซีย มงคลวนิช โฆษกกรมสรรพากร คาดการณ์ว่า มาตรการช้อปช่วยชาติปีนี้จะมีการจับจ่ายเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีช่วง 23 วัน กว่า 22,500 ล้านบาท คาดว่าทำให้กรมสูญเสียรายได้จากการคืนภาษี 2,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 2559 ที่มีการใช้สิทธิ์ประมาณ 15,000 ล้านบาท ทำให้สูญรายได้ประมาณ 1,800 ล้านบาท
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า มาตรการช้อปช่วยชาติ รัฐบาลไม่ได้หวังผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโตสูง เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ แต่รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคในช่วงปลายปี เพราะที่ผ่านมาร้านค้าขนาดย่อม และ ธุรกิจเอสเอ็มอี ยอดขายยังต่ำ ไม่ฟื้นตัว และรายได้เกษตรกรยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับในปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้มาตรการช้อปช่วยชาติ กระตุ้นกำลังซื้อประชาชนได้ผล
ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะมีมาตรการดังกล่าวในปีนี้ด้วย เพื่อให้การบริโภคในปลายปีนี้ขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกันและให้เอสเอ็มอีได้รับอานิสงค์ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 5,000-6,000 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนผู้มีสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 15,000 บาท และจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อมีมาตรการช้อปช่วยชาติปลายปี จะมีผลทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคในเดือนมกราคมลดลงบ้าง เพราะเป็นการดึงกำลังซื้อในอนาคตมาใช้แต่ผลกระทบจะไม่รุนแรง
ส่วนมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่ามาตรการช้อปช่วยชาติไม่ได้มีความจำเป็นมาก เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมขยับตัวดีขึ้นระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลต้องการช่วยคนมีรายได้น้อย หรือชนชั้นกลาง ควรจะใช้มาตรการ หรือวิธีการอื่นๆ เช่น ดูแลสวัสดิการของคนยากจน ลดภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ไม่สูง พิจารณาลดภาษีบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล สำหรับเอสเอ็มอี หรือตั้งกองทุนในการดูแลเรื่องการประกอบอาชีพ และหากเป็นการลดหย่อนภาษี ควรกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยว เพราะจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการซื้อสินค้า
ข่าวเด่น