นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3.6 ล้านคน และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวให้มีรายได้ในการดำรงชีพมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพฯ
สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
2. การแจ้งความประสงค์ในการบริจาคเบี้ยยังชีพฯ
2.1 หน่วยรับแจ้งการบริจาค
1) ผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครที่ตนได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้
2) ผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดที่อาศัยในต่างจังหวัด สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้
3) ผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดที่อาศัยในต่างจังหวัด สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจได้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต)
ทั้งนี้ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา จะส่งเงินบริจาคให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เพื่อส่งเข้ากองทุนผู้สูงอายุต่อไป และสำหรับกรุงเทพมหานครจะส่งเงินบริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุโดยตรง
2.2 เอกสารหลักฐาน
1) กรณีแจ้งความประสงค์บริจาคด้วยตัวเอง นำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
2) กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอบริจาคเบี้ยยังชีพแทน นำหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
ทั้งนี้ การแจ้งความประสงค์ขอบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเป็นการบริจาคเงินเบี้ยยังชีพ ทั้งจำนวนตามสิทธิการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของผู้บริจาคแต่ละคนตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ได้แจ้งความประสงค์ ไปจนกว่าจะแจ้งยกเลิกการบริจาค
3. การนำเงินบริจาคไปใช้
3.1 เงินบริจาคจะนำมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
3.2 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินช่วยเหลือฯ และกรมบัญชีกลางจะนำเงินช่วยเหลือฯ เข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้สูงอายุในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป
4. ผู้บริจาคจะได้อะไร
4.1 เหรียญเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นการตอบแทนการเสียสละเงินเบี้ยยังชีพที่จะนำไปให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
4.2 สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน ซึ่งกองทุนผู้สูงอายุจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคต่อไป
5. วันเริ่มโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพฯ
วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป
กระทรวงการคลังจึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอแล้ว เข้าร่วมโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ
ข่าวเด่น